สถิติ

71615222

"เอสซีจี" โชว์แกร่ง!สวนโควิด 19 กำไรโต 85%    

   "เอสซีจี" โชว์แกร่ง!สวนโควิด 19 กำไรโต 85%

   ชูธง!เคมิคอลส์แต่งตัวเทรด-โซลูชันบ้าน-บรรจุภัณฑ์ 

                   

   เอสซีจี เปิดผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 กำไรเพิ่มขึ้น จากนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มรับตลาดโลกฟื้น การเริ่มผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เฟส 2

   และการส่งมอบโซลูชันที่อยู่อาศัย ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงบ้านในช่วง Work from Home ขณะที่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร-เครื่องดื่ม และอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่อง

   ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุน พร้อมมุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจ ESG

   ด้วยการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในบริษัทรีไซเคิลพลาสติก ในโปรตุเกส พัฒนาโซลูชัน Medical & Healthcare และ EV รับเทรนด์โลก เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว

   นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 122,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ

   และมีกำไรสำหรับงวด 14,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจเคมิคอลส์มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์(MOC) ในไตรมาสก่อน

   การเริ่มผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เฟส 2 (MOC Debottleneck) และอุปสงค์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

   ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างดีขึ้นจากปัจจัยตามฤดูกาล ด้านธุรกิจแพคเกจจิ้งมีการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ในภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตยิ่งขึ้น และกระจายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม

   เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และกำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้นร้อยละ 114 สาเหตุหลักจากธุรกิจเคมิคอลส์มีส่วนต่างราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 

   ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เอสซีจี มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services HVA) 41,475 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม

   ทั้งนี้ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development–NPD) และ Service Solution เช่น โซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Solution) โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart and Functional Solutions) คิดเป็นร้อยละ 13 และ 5 ของรายได้จากการขายรวม

   นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ทั้งสิ้น 51,104 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีมูลค่า 800,932 ล้านบาท โดยร้อยละ 38 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

   นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2564 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 51,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น

   เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงาน MOC ในไตรมาสก่อน และการเริ่มผลิตของโครงการ MOC Debottleneck ในไตรมาสนี้ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 8,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากไตรมาสก่อน

   จากปริมาณขายและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 397 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

   โดยเฉพาะจากบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด หรือ BST ที่เป็นผู้ผลิตน้ำยางสังเคราะห์ไนไตรล์รายเดียวในประเทศไทย เพื่อการผลิตถุงมือยางไนไตรล์สำหรับแพทย์

   ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการสินค้าและบริการในภูมิภาคที่ลดลง

   และการซ่อมบำรุงตามแผนของโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากปัจจัยตามฤดูกาล

   ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากไตรมาสก่อน

   และเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอาเซียน ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น การรุกขยายพอร์ตสินค้าบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค

   โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อสุขอนามัย ฯลฯ การปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการกระจายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม

   รวมถึงกลยุทธ์ Merger & Partnership หรือ M&P ได้แก่ การเข้าลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ประเทศเวียดนาม และการเข้าลงทุนใน Go-Pak UK Limited เพื่อขยายฐานตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารในภูมิภาคต่าง ๆ รองรับเมกะเทรนด์

   นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด ESG เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน”

   ซึ่งนอกจากจะเน้นการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อาทิ  SMX™ HDPE และ HDPE Pipe PE112 แล้ว ยังเร่งการเข้าสู่ธุรกิจที่ตลาดมีการเติบโตสูงเช่น ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

   ล่าสุดได้เข้าสู่ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในยุโรป ด้วยการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส

   ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้

   นอกจากนี้ โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน MOC Debottleneck ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ DOW ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนและเริ่มทดลองดำเนินการผลิตแล้ว คาดว่าจะผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือนพฤษภาคม 2564

   จะทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำลง และยังทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process)

   ในส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 76 โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566

   นอกจากนี้ เอสซีจี อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงการเสนอขายหุ้น SCG Chemicals ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต

   เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และการลงทุนอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

   ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงเติบโตอย่างมีคุณภาพ ผ่านการนำเสนอสินค้า บริการ และโซลูชันครบวงจร ตอบโจทย์การก่อสร้างและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG

   อาทิ โซลูชัน Green Construction ของ CPAC ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการด้วย CPAC Construction Solution เช่น CPAC BIM, CPAC Drone, CPAC 3D Printing

   และ CPAC Smart Structure ตั้งเป้าเปลี่ยนของเสียจากงานก่อสร้างให้เกิดประโยชน์คืนกลับสู่สังคม (Waste to Wealth) ในอุตสาหกรรม
การก่อสร้าง ประมาณร้อยละ 10-20

   นอกจากนี้ธุรกิจได้ขยายตลาด SCG Solar Roof Solution ทั้งลูกค้ากลุ่มเจ้าของบ้าน (Residential) และกลุ่มผู้ประกอบการ (Non- Residential) ที่ใช้ไฟในตอนกลางวันต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าและเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชนให้สูงขึ้น

   โดยตั้งเป้ายอดขายรวม 600 ล้านบาท ในปี 2564 และล่าสุดได้เปิดตัว EV Solution Platform โซลูชันที่ให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดครบวงจร เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

   ขณะเดียวกัน ธุรกิจได้เปิดตัว SCG D’COR (เอสซีจี เดคคอร์) วัสดุตกแต่งทางเลือกใหม่ พร้อมบริการ SCG D’COR Facade Solution ตอบรับการก่อสร้างที่ต้องการทั้งความสวยงามและประสิทธิภาพการใช้งาน

   และจะขยายสาขา SCG HOME เพิ่มอีก 33 สาขา รวมเป็น 50 สาขา ภายในปีนี้ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนา SCGHOME.com ให้เป็น Super Platform ของการทำบ้านที่ครบวงจรที่สุด

   เชื่อมต่อระหว่างหน้าร้านและระบบออนไลน์ตามแนวคิด Active Omni-channel เป็นเพื่อนคู่คิดให้ลูกค้าตั้งแต่การวางแผน การปรับปรุงบ้าน จนถึงการเข้าอยู่อาศัย

   ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงเติบโตได้ดี ด้วยการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจที่มุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนรุกขยายกำลังการผลิตและผนึกกำลังระหว่างฐานการผลิตต่าง ๆ

   ซึ่งได้เปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี ของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์อีกกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี ในบริษัทวีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

   อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าทางเรือได้ดี ทำให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   ขณะเดียวกันธุรกิจได้พัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุดได้พัฒนา OptiBreath® บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยคงความสดของผักผลไม้ให้นานขึ้น ลดการเน่าเสียและข้อจำกัดทางการขนส่ง ด้วยเทคโนโลยีของฟิล์มที่ช่วยควบคุมการผ่านเข้าออกของก๊าซและไอน้ำ

   และ Odor LockTM บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเก็บกลิ่นอาหาร สะดวกต่อการขนส่งและวางจำหน่ายร่วมกับสินค้าอื่น โดยวางจำหน่ายแล้วในร้านค้าออนไลน์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในฤดูกาลผลไม้นี้

 

30 เมษายน 2564

ผู้ชม 1447 ครั้ง

Engine by shopup.com