SCGP ฟัน!กำไรโต 23% สวนโควิด-19
SCGP ฟัน!กำไรโต 23% สวนโควิด-19
SCGP ฟัน!กำไรโต 23% สวนโควิด-19
ประเดิม!สัดส่วนรายได้อาเซียนแตะ51%
SCGP สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำรายได้จากการขายไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 รวม 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตอกย้ำ!โมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพ จากการรุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนสร้างประวัติศาสตร์รายได้สัดส่วน 51% เป็นครั้งแรก ส่วนในไทยอยู่ที่ 49%
โชว์!การพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค การปรับตัวอย่างรวดเร็ว และภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว เดินหน้าแผนลงทุนตามแผน 20,000 ลบ. พิชิตรายได้ 100,000 ล้านบาทสิ้นปี 64 ตามแผน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ EBITDA ((กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืมตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562) อยู่ที่ 5,267 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอาเซียน ราคากระดาษ บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ SCGP มีการวางโมเดลธุรกิจมุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ในภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตยิ่งขึ้น
การกระจายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขอนามัย ฯลฯ ที่ยังมีการเติบโตได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
โดยบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของรายได้จากสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรจากการขายในไตรมาสแรกที่ผ่านมา
ส่วนบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซยังมีการเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และได้รับผลเชิงบวกในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ขณะเดียวกัน SCGP ได้รุกขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการขยายกำลังการผลิตและควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) โดยนับจากปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน
ได้ลงทุนขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบบครบวงจร ได้แก่ (1) การเปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี ของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย (2) การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์อีกกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี ในบริษัทวีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
(3) การเข้าลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ประเทศเวียดนามเพื่อขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค (4) การเข้าลงทุนใน Go-Pak UK Limited เพื่อขยายฐานตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารในภูมิภาคต่าง ๆ รองรับเมกะเทรนด์
นอกจากนี้บริษัทมุ่งเน้นการผนึกกำลัง (Synergy) ระหว่างฐานการผลิตต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้า การสร้างสรรค์นวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงาน
รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบผ่านศูนย์จัดการวัสดุรีไซเคิล (Recycling Station) และพันธมิตรต่าง ๆ อีกทั้งสามารถบริหารจัดการภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จัดส่งสินค้าทางเรือในช่วงที่ผ่านมาได้
“ปี 2563 และ 2564 ถือเป็นปีที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม SCGP ตั้งเป้าผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกในปีนี้
ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพจากการกระจายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายและการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่าง
โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุน (CAPEX) ปีนี้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายลงทุนเพื่อการเติบโตจากการ M&P และการขยายกำลังการผลิตประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติบโต
และอีกประมาณ 5,000 ล้านบาทเป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีที่ใช้ในการซ่อมบำรุง โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ โครงการวิจัยพัฒนาสินค้า และโครงการพัฒนาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้มีการใช้งบลงทุนเป็นไปตามแผนแล้ว 4,600 ล้านบาท เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ภายในสิ้นปีนี้” นายวิชาญ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์อีก 220,000 ตัน/ปี
และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวในประเทศไทยอีก 53 ล้านตารางเมตร/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
รวมทั้งการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 70 ใน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ประเทศเวียดนาม เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม คาดว่าจะปิดดีลแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2564
27 เมษายน 2564
ผู้ชม 538 ครั้ง