สถิติ

73710335

ธนาคารไทยเครดิต ปักธง!ปี73 พอร์ตสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีทะลุ 200,000 ลบ.

หมวดหมู่: การเงิน

   ธนาคารไทยเครดิต ปักธง!ปี73 พอร์ตสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีทะลุ 200,000 ลบ.

   ปี68 เป้าสินเชื่อโตสองหลัก-โชว์กึ๋น!หนี้เสียต่ำ 3.7%-ส่ง "SME กล้าสู้" ดันพอร์ต

   ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) โชว์ผลงานของสินเชื่อ SME กล้าให้ ดันพอร์ตสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารทะลุแสนล้านบาทในปี 2567 หนี้เสียต่ำแค่ 3.7% พร้อมผลักดันส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อ SME จาก 2% เป็น 8% ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา

   ปี 68 เดินหน้าเปิดตัวสินเชื่อใหม่ "SME กล้าสู้" ดันสินเชื่อโตมากกว่า 10% หรือกว่า 60,000 ล้านบาท กระตุ้นผู้ประกอบการให้กล้าลุกขึ้นสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายทางธุรกิจ

   ชูกลยุทธ์ Risk-based Pricing เน้นความยืดหยุ่น คำนวณดอกเบี้ยตามความเสี่ยง มุ่งทลายข้อจำกัดของผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีในการขอสินเชื่อ เดินหน้าพิชิตเป้าหมายสินเชื่อ SME ปี 73 แตะ 200,000 ล้านบาท 

   พร้อมตอกย้ำจุดยืน “STANDBY เคียงข้าง SME” พร้อมคิกออฟแคมเปญ Always STANDBY ส่งกำลังใจให้ผู้ประกอบการผ่านบทเพลงและหนังสั้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แค่มีเรา STANDBY 

   นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีศักยภาพในการเติบโต แต่ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยเหตุนี้ธนาคารฯ จึงได้พัฒนา "สินเชื่อ SME กล้าให้" โดยได้เริ่มให้บริการสินเชื่อดังกล่าวอย่างเป็นทางการในปี 2562 และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด

   “ตลอดระยะเวลา 6 ปี สินเชื่อ SME กล้าให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิม 2% ในปี 2562 ขยายตัวเป็น 8% ในปี 2567

   นอกจากส่วนแบ่งทางการตลาดแล้ว สินเชื่อในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารฯ ยังมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นในหลายด้าน อาทิ ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking Volume) ตั้งแต่ปี 2562-2567 รวมกว่า 180,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเคสในการปล่อยสินเชื่อรวมมากกว่า 28,000 เคส

   พอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี (Loan Balance) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2562-2567 อยู่ที่ 26.9% ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารมีมูลค่ามากกว่า 100,900 ล้านบาท

   โดยปี 2567 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ที่ 12.8% จากปี 2566ในขณะที่หนี้เสียอยู่ที่ 3.7% ซึ่งต่ำกว่าระบบที่หนี้เสีย SME อยู่ที่ 7%” นายรอย กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อใหม่ไว้มากกว่า 10% หรือจำนวน 60,000 ล้านบาท โดยกว่า 70% เป็นพอร์ตสินเชื่อ ไมโคร เอสเอ็มอี 20% เป็นพอร์ตสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ และอีก 10% เป็นสินเชื่อบ้าน

   โดยมีแผนขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเดินตามพันธกิจที่วางไว้ ผ่านกลยุทธ์สำคัญใน 2 ด้าน ได้แก่  1. การเติบโตของสินเชื่อหลัก 2. Digital Transformation

   โดยเชื่อมั่นว่า "สินเชื่อ SME กล้าให้" จะเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการขับเคลื่อนให้ธนาคารฯ สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งได้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่อจาก 35 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท ตามจุดยืนของธนาคารไทยเครดิตที่พร้อม STANDBY เคียงข้าง SME 

   นายนาธัส กฤตวรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้าและการชะลอตัวของสินเชื่อใหม่จากเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

   เพื่อช่วยทลายข้อจำกัดดังกล่าว ธนาคารฯ ได้นำโมเดลการพิจารณาสินเชื่อแบบ Risk-based Pricing เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าไมโครเอสเอ็มอี

   โดยโมเดลดังกล่าวจะช่วยผ่อนปรนให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้เงื่อนไขการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ธนาคารจึงได้เปิดตัว "สินเชื่อ SME กล้าสู้" อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 6.95% ต่อปี ใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน

   วงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของหลักประกัน และไม่เกิน 10 ล้านบาท เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบภายใต้สภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ และสามารถก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

   เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีแนวทางผ่อนปรนการอนุมัติให้กับลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่า ในปี 2568 นี้ จะมี "สินเชื่อ SME กล้าสู้" จำนวน 10,000-15,000 ล้านบาท

   และจะเป็นสินเชื่ออีกประเภทที่สามารถผลักดันให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ SME เติบโตแตะ 200,000 ล้านบาท หรือในปี 2573 ต่อไป

   และที่สำคัญธนาคารยังมีแผนขยายจุดให้บริการลูกค้าธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี โดยการเปิด Business Center ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีได้สะดวกและครอบคลุมยิ่งขึ้น อาทิ เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

   “พร้อมกันนี้ธนาคารยังถือโอกาสเปิดตัวแคมเปญ "Always STANDBY" ดึงบทเพลง "แค่มี" ที่มีการปรับเนื้อร้องพิเศษให้เป็นแบบฉบับของธนาคารไทยเครดิตโดยเฉพาะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "แค่มีเรา STANDBY" ขับร้องโดย "เอก เดอะ วอยซ์" นำเสนอผ่าน MV และภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง

   สะท้อนภาพชีวิตและการต่อสู้ของผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี โดยมีธนาคารไทยเครดิต STANDBY คอยอยู่เคียงข้างเป็นกองหนุนให้ผู้ประกอบการในทุกช่วงเวลา สื่อถึงกำลังใจ ความห่วงใย และความปรารถนาดีของธนาคารฯ ส่งไปยังผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีไทย   

   หวังว่าทุกคนจะชอบครับ สมารถรับชม MV เพลง “แค่มีเรา STANDBY” โดย ธนาคารไทยเครดิต ได้แล้ววันนี้ ผ่านช่องทาง YouTube: Thai Credit Bank SME กล้าให้ และ Facebook: Thai Credit Bank SME กล้าให้" นายนาธัส กล่าวสรุป 

   สำหรับสินเชื่อ SME กล้าสู้ เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ใช้เงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารไทยเครดิตเป็นหลักประกัน อนุมัติวงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของหลักประกันเงินฝาก สูงสุด 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล และสูงสุด 5 ล้านบาท

   สำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR-3.05% ต่อปี (6.95% ต่อปี) ถึง MRR+17.95% ต่อปี (27.95% ต่อปี) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี โดยผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

   ส่วนสินเชื่อ SME กล้าให้เต็ม MAX ขยายวงเงินสินเชื่อสูงสุด 50 ล้านบาท และไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าประเมินหลักประกัน โดยสามารถใช้ที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดพักอาศัย หรือเงินฝาก เป็นหลักประกัน

   อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR-4.55% ต่อปี (5.45% ต่อปี) ถึง MRR+3.20% ต่อปี (13.20% ต่อปี) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี โดยผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป 

   - วงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยพิจารณาตามคุณสมบัติของผู้กู้ เงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ธนาคาร www.thaicreditbank.com หรือ โทร. 0-2697-5454

   - อ้างอิง MRR ตามประกาศของธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2568 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2568 เท่ากับ 10.00% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

03 เมษายน 2568

ผู้ชม 129 ครั้ง

Engine by shopup.com