ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว
คาดเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า20,000ลบ. ฉุดจีดีพี0.06%
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่เมืองสะกาย เมียนมา ทำให้ประเทศไทยประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและแรงสั่นสะเทือนรุนแรงในหลายเมือง
โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ (ระดับความรุนแรง 4.5-5.0 Modified Mercalli Intensity Scale–MMI) เชียงใหม่ (5.2-5.7 MMI) ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน อันประเมินค่าไม่ได้
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในเบื้องต้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในภาคการบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองหลักอย่างเช่นเชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งงานอีเวนท์ ร้านอาหาร ค้าปลีก การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนจะต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร
ทั้งนี้หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้
ผลต่อภาคธุรกิจ มองว่า แม้การซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหาย และความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุ ก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์
แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งความต้องการเช่า (ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ) คงจะมีมากขึ้น ขณะที่จากข้อมูล REIC พบว่า จำนวนอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 65,000 หน่วย มูลค่า 375,000 ล้านบาท
ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พักในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง แม้จะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น จากเดิมก็มี Downside อยู่แล้ว
หลังตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เริ่มลดต่ำลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 ที่ 37.5 ล้านคน ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะถูกทบทวนปรับลง
ด้านมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน คงช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ตามประเด็นกำลังซื้อที่เปราะบางและหนี้ที่สูงจะยังเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของครัวเรือนและธุรกิจในระยะข้างหน้า
ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ความเสี่ยงด้านลบจะมีมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมหลัก รวมถึงการขยายสินเชื่อและคุณภาพหนี้
ทั้งนี้ผลกระทบต่อ GDP จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4%
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรอติดตามการประกาศผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ หากไทยโดนภาษีในอัตรา 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP เพิ่มเติมอีกราว -0.3%
จากผลกระทบสถานการณ์แผ่นดินไหวประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. มีโอกาสสูงขึ้นที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปี มาเป็นรอบการประชุมในเดือนเมษายน 2568 นี้
ในขณะที่ กนง. มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568 ท่ามกลางช่องว่างของนโยบาย (policy space) ที่ลดลง
ส่วนผลกระทบต่อภาคการเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า
ธุรกิจประกัน : แม้ในปัจจุบันผู้ได้รับผลกระทบยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ก่อนแจ้งเคลม แต่คาดว่าผลกระทบต่อธุรกิจประกันน่าจะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้
เนื่องจากเป็นเหตุที่ไม่เกิดบ่อยในไทย และบริษัทประกันไทยส่วนใหญ่มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยต่อ (Reinsure) ไปยังต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) ของธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึงประมาณ 3 เท่า
ทั้งนี้แม้ภัยธรรมชาติจะมีผลให้ลูกค้าตื่นตัวในการทำประกันภัยมากขึ้นทั้งกลุ่มอัคคีภัยและ Industrial All Risks Insurance (IAR) แต่บริษัทประกันคงต้องบริหารจัดการ Loss Ratio
อาทิ จากกลุ่มอัคคีภัย ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามความถี่ของภัยธรรมชาติ รวมถึงควบคุมความเสี่ยงจากธุรกิจอื่นๆ ที่น่าห่วงมากกว่าและมีขนาดใหญ่อย่างเช่นประกันภัยรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ : มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่เพิ่งประกาศออกมา อาจมีผลเฉพาะหน้าบางส่วนในการประคองภาพสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามภาพรวมสินเชื่อยังถูกกดดันจากอำนาจซื้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ยังคงมองการเติบโตของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยปีนี้ที่ 0.6%
ขณะที่ประเด็นติดตามจะอยู่ที่ 1) คุณภาพหนี้ โดยเฉพาะในส่วนหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมก็มีแนวโน้มถดถอยลงหลังจากช่วงโควิด
และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินก่อนหน้านี้ว่า สัดส่วน NPLs ของระบบแบงก์มีโอกาสปรับจาก 2.7% ณ สิ้นปี 2567 มาแตะที่ขอบบนของกรอบ 2.65-2.85% ณ สิ้นปี 2568 มากขึ้น
2) การไถ่ถอนหุ้นกู้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะที่เหลือของปีนี้ และ 3) ผลจากการลดดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น อันจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทยเพิ่มเติม
31 มีนาคม 2568
ผู้ชม 167 ครั้ง