คปภ.-ธุรกิจประกันภัย ย้ำความแข็งแกร่งบริการ/การเงินเคลมแผ่นดินไหว
คปภ.-ธุรกิจประกันภัย ย้ำความแข็งแกร่งบริการ/การเงินเคลมแผ่นดินไหว
คปภ.-ธุรกิจประกันภัย ย้ำความแข็งแกร่งบริการ/การเงินเคลมแผ่นดินไหว
กำหนดแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน-แจงประเภทกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านการประกันภัย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างเร่งด่วนทันทีที่ทราบข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ได้ประสานงานกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และประสานขอทราบรายชื่อ ผู้สูญหายหรือติดในซากอาคารพร้อมหลักฐานอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบและเตรียมการสำหรับการเยียวยาด้านการประกันภัยต่อไป
รวมถึงจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการข้อมูล และการช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับความเสียหาย มีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ได้แก่
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีสัดส่วนการรับประกันภัยอยู่ที่ 40%, 25%, 25% และ 10% ตามลำดับ รวมมูลค่าความคุ้มครอง 2,241,000,000 บาท
พร้อมย้ำว่าความเสียหายนี้จะไม่กระทบต่อความมั่นคงของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 บริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันภัยอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงโดยการประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ
และจากการตรวจสอบดัชนีวัดความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย พบว่าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังมีความมั่นคงในระดับดีมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ระดับเกือบ 300% หรือมากกว่า 3 เท่า ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100%
ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินรับประกันภัยจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทข้างต้น อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือบริษัทประกันภัยให้เร่งติดตามสถานการณ์และดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังได้เปิดให้บริการสายด่วน คปภ. 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการ Chatbot @oicconnect เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนกว่าสถานการณ์ จะคลี่คลาย
และจัดทำข้อมูล Q&A และ Infographic เกี่ยวกับข้อมูลความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยจะเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ติดต่อบริษัทประกันภัยที่ทำกรมธรรม์ไว้โดยเร็วที่สุด
พร้อมจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เช่น หลักฐานความเสียหาย ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญอื่นๆ
ทั้งนี้บริษัทประกันภัยจะส่งผู้ประเมินความเสียหายเข้าตรวจสอบและพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ หากมีข้อสงสัยหรือ พบปัญหาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสามารถติดต่อสำนักงาน คปภ. หรือติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือช่องทาง Chatbot @oicconnect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างเต็มที่
พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความช่วยเหลือและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม พร้อมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย
“ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่มีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้
แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก แต่ทุกฝ่ายได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ขอย้ำว่า สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย รวมถึงบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย จะทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ
เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย และขอยืนยันว่าธุรกิจประกันภัยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรองรับความเสี่ยงภัยต่างๆ
ในขณะที่จากข้อมูลพบว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) ของธุรกิจประกันวินาศภัยที่รวมความคุ้มครองแผ่นดินไหวด้วนนั้นปัจจุบันมีทุนประกันภัยทั้งระบบอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท” เลขาธิการ คปภ. กล่าวย้ำ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตั้งศูนย์ประสานงาน
อำนวยความสะดวกด้านประกันภัยกรณีแผ่นดินไหว
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ทั้งอาคาร บ้านเรือน คอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
และขอส่งความห่วงใยให้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมแนะนำผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว
ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้เพื่อเป็นการดูแลและให้บริการผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ตั้งศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว
ซึ่งการดำเนินงานครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูล ในกรณีที่กรมธรรม์สูญหาย ตลอดจนการให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดความคุ้มครองผ่านช่องทางโทรศัพท์ 0 2108 8399
และช่องทางออนไลน์ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนของ ทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบและสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
รวมถึงประสานงานกับบริษัทสมาชิกให้เตรียม ความพร้อมในการให้บริการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยโดยเร็วที่สุด
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว มีดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้
ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 2,233,518 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 3,145,880 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 5,379,398 ฉบับ
สำหรับการประกันภัยอาคารชุด ในส่วนของนิติบุคคลจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง
เช่น โครงสร้างอาคาร ลิฟต์ บันไดส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit)
ขณะที่ในส่วนเจ้าของห้องชุดเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นๆ ที่อยู่ภายในห้องชุด ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้
2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการ ร้านค้าต่างๆ จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น
ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 452,716 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 661,806 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำนวน 1,114,522 ฉบับ
3. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) สำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่างๆ
ให้ความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายใน สิ่งปลูกสร้าง ที่เอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใดๆ ที่ไม่ได้มีการระบุข้อยกเว้นไว้ ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit)
ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 95,372 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวน 99,017 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จำนวน 194,389 ฉบับ
สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คุ้มครองความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความสูญเสียในทางการค้า (รายได้ของผู้เอาประกันภัย) กำไรสุทธิ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น)
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใดๆ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและไม่ได้มีการระบุยกเว้นไว้
4. กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ อันไม่อาจคาดหมายได้
หรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้น โดยให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย งานก่อสร้างและ วิศกรรมโยธาการติดตั้งเครื่องจักร และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
5. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เท่านั้น สำหรับกรมธรรม์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 (2+ และ 3+) สามารถซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยธรรมชาติ หรือแยกซื้อภัยแผ่นดินไหวเพิ่มได้
6. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ คุ้มครองความเสียหายต่อร่างกายรวมถึงชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงอุบัติเหตุจากแผ่นดินไหวด้วย
01 เมษายน 2568
ผู้ชม 79 ครั้ง