สถิติ

73174807

คปภ. เปิดมุมมองผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยต้องปรับตัวเร่งด่วน  

หมวดหมู่: ประกันภัย

   คปภ. เปิดมุมมองผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยต้องปรับตัวเร่งด่วน

   รับมือ Climate change ภาคประกันภัย...ส่วนสำคัญการเปลี่ยนแปลง

                              

   สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เผยมุมมองการบรรยายและเสวนา ในหัวข้อ “ตื่นรู้ ปรับเปลี่ยน รับความเสี่ยงภัยจากสภาพภูมิอากาศในโลกใหม่ที่ต้องเผชิญ (Adapting to climate change : New World-New Risk-New Practice)” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ณ สำนักงาน คปภ. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

   ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าปัจจุบันมี 3 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลก

   การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ คือ การเปลี่ยนแปลงผู้นำใหม่ของสหรัฐอเมริกา และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยผลการวิจัยพบว่า ในอีก 20 ปี หลังจากนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ เต็มไปด้วย 4 ภัยใหญ่ คือ

   1) ทะเลสูง แผ่นดินต่ำ 2) น้ำท่วมแรง 3) แห้งแล้งจัด และ 4) วิบัติคลื่นร้อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน และเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมจะ เติบโตช้าลงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

   ซึ่งประเทศไทยจะน่าห่วงที่สุด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงสุดในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องมีการปรับตัว 2 เรื่องใหญ่คือ 1) การปรับลดคาร์บอนลดโลกร้อน (Mitigation) และ 2) การปรับตัวอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation)

   ซึ่งเรื่องนี้ TDRI ได้เสนอแนวทางเรื่องการนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมาจัดตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation Fund (GTAF) เพื่อช่วยเหลือในการทำ Mitigation (ลดลงตามเวลา) และช่วยเหลือในการทำ Adaptation (เพิ่มตามเวลา) และช่วยการปรับตัวของกลุ่มเปราะบาง

   แต่อย่างไรก็ตามมี 4 เรื่องเร่งด่วน ที่ควรเร่งทำคือ 1) สร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง 2) ปรับปรุงเมืองลดความเสี่ยง 3) พัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติที่ลดความเสี่ยง

   และ 4) เตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัวซึ่งภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

   นอกจากนี้ในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อถอดบทเรียนและแชร์ประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนาได้ให้มุมมองสำคัญ ดังนี้นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการประกันภัยเพื่อบริหารจัดการและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ (Insurance Center for Disaster Management and Co-operation) หรือศูนย์ ICD

   นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisor) หรือ IAIS

   ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทางโลกไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และบทบาทของธุรกิจประกันภัยในการตอบสนองต่อสังคมตามลำดับ โดยในแง่ของ Climate change ได้ยกระดับการป้องกันด้วยระบบประกันภัย      

   ซึ่งสิ่งที่สำนักงาน คปภ. ทำอยู่ก็คือ การทำให้กฎระเบียบต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการประยุกต์ใช้แนวคิดในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในกระบวนการทำงาน และมุ่งเน้นเรื่องการใช้ DATA ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลของกรมธรรม์ประกันภัย

   เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้รองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการส่งเสริมบทบาทธุรกิจประกันภัยที่สร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการช่วยลดความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นกับ ประเทศชาติ ธุรกิจ และกับโลก 

   ด้าน ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างใหญ่ คือ การปรับลดคาร์บอนลดโลกร้อน (Mitigation) และ การปรับตัวอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation) เพื่อให้อยู่ได้และอยู่ดี

   จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจก โดยในส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องของการทำความดีเพื่อสังคม (CSR) แต่เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งในเรื่องของประกันภัยจะเห็นว่าบริษัทประกันภัยเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของ Climate risk รวมถึง Transition risk

   ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจประกันภัยจะกลับไปมองเรื่องของความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

   ด้าน นายณัฐพิสิษฐ์ ครุฑครองชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทย - แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า กลุ่มบริษัทแอกซ่า กรุ๊ป เริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับ Climate change ตั้งแต่ปี 2015 โดยเริ่มจากลดการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินที่ทำให้เกิดโลกร้อน ซึ่งทุกปีได้มีการสำรวจความตระหนักรู้เพื่อจัดอันดับความเสี่ยง

   และล่าสุดปี 2024 ได้สำรวจผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 22,000 คนทั่วโลก สรุปได้ว่า อันดับ 3 คือ Cyber Security หรือความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ อันดับ 2 สภาวะสงคราม และอันดับ 1 คือ Climate change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่ทำให้เกิดความสูญเสียในหลายด้านที่ต้องประเมินความเสี่ยงและรับความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น

   ดังนั้นบทบาทของบริษัทประกันภัย มี 3 ส่วน ด้วยกัน คือ 1) บริษัทประกันภัยรับเงินจากผู้เอาประกันภัยมาแล้วต้องนำเงินไปลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น การลงทุนที่หลีกเลี่ยงอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิด Climate change

   2) การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ผู้เอาประกันภัย และสามารถลดความเสี่ยงภัยได้ และ 3) คำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง โดยการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงการทำประกันภัยได้

   นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทแอกซ่า มีเป้าหมายชัดเจนในการลดคาร์บอน และมีนโยบายไม่ลงทุนกับกลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมันดิบ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

   และอยากสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันหันมา ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

   ด้าน นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยเผชิญความท้าทายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น จากการวิจัยล่าสุดในปี 2024 ธุรกิจประกันภัยทั่วโลก จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับภัยพิบัติประมาณ 140,000-150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ถึง 27% และเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันที่ยอดจ่ายสินไหมเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์

   สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้น ดังนั้น หากเกิดขึ้นในอนาคตตัวเลขสินไหมก็อาจเพิ่มขึ้นมหาศาล ในประเทศไทยเองภัยธรรมชาติเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

   บริษัทประกันภัยจึงต้องมีปรับตัว ใน 2 ด้าน คือ การออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแยกพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างแม่นยำ และร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ในการทำมาตรการ ลดความเสี่ยง และการรักษาสถานะทางการเงินให้มั่นคงเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมเมื่อเกิดเหตุ

   แต่อย่างไรก็ตามก็มองว่าเป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัยด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเพียง 40% ของความเสียหายจากภัยพิบัติทั่วโลกที่มีการทำประกันภัย โดยหากสามารถส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยแพร่หลายมากขึ้นจะช่วยกระจายความเสี่ยงและทำให้เบี้ยประกันภัยไม่แพงเกินไปสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย

20 มีนาคม 2568

ผู้ชม 104 ครั้ง

Engine by shopup.com