SCB EIC ชี้!ไทยติดกับดักเศรษฐกิจฟื้นตัวรั้งท้ายโลก
SCB EIC ชี้!ไทยติดกับดักเศรษฐกิจฟื้นตัวรั้งท้ายโลก
SCB EIC ชี้!ไทยติดกับดักเศรษฐกิจฟื้นตัวรั้งท้ายโลก
ปี68จีดีพีแค่2.4%-ส่งออกทรุด!-กดดันดอกเบี้ยเหลือ1.5%
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีผลกดดันเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินงานของธุรกิจทั่วโลก
มองไปข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายลักษณะคาดการณ์ยาก พร้อมจะปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับการต่อรอง ในกรณีฐานมองว่าสหรัฐฯ จะใช้นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) แทนนโยบาย Universal Tariffs ที่เคยหาเสียงไว้
และใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้าหรือบางประเทศเพิ่มเติม (Specific Tariffs) เช่น สินค้ารถยนต์ เหล็กและอะลูมิเนียม หรือสินค้าจากประเทศจีนและแคนาดา
SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 11% จากอัตราเฉลี่ยเดิม ยิ่งหากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ด้วยแล้ว
คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่นี้จะกระทบเศรษฐกิจโลกรวม –1.3% และเร่งให้เงินเฟ้อโลกเพิ่ม 0.5% ในระยะปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลลบทางเศรษฐกิจสุทธิน้อยกว่า แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเร่งตัวสูงกว่าจากผลกระทบนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า
SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวชะลอลงบ้างที่ 2.6% (เทียบกับ 2.7% ในปีก่อน) จากผลสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มออกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยลดผลกระทบจากภายนอกมากขึ้น
เช่น ยุโรปและจีนวางแผนขาดดุลการคลังมากขึ้น โดยเยอรมนีมีแผนขยายกฎเกณฑ์การคลังด้านหนี้ (Debt Break) เพื่อเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ พร้อมตั้งกองทุน 500,000 ล้านยูโร เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐตลอด 10 ปีข้างหน้า
ด้านจีนวางแผนขาดดุลคลัง 4% ของ GDP สูงเป็นประวัติการณ์ อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นก่อหนี้มากขึ้น และจะกู้เงิน 5 แสนล้านหยวนเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐ
นโยบายการเงินประเทศเศรษฐกิจหลักจะแตกต่างกันและไม่แน่นอนสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอีก 50 BPS ในปีนี้ตามที่เคยประเมินไว้ แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังสูงและเสี่ยงเร่งขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของตัวเอง แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 และความไม่แน่นอนของนโยบายที่สูงขึ้น
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่า Fed รวม 100 BPS ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าและเงินเฟ้อต่ำกว่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้รวม 50 BPS เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนอ่อน และเงินเฟ้อญี่ปุ่น
ทรงตัวสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืนขึ้น
SCB EIC ยังคงมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.4% ปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 2.5% เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ 10,000 บาทเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย
อย่างไรก็ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทย
เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมา
การส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น
พร้อมกับการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นด้วยหลังจากจีนมีแผนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ กระจายไปตลาดอื่น โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะปรับลดลงเหลือ 1.6% จาก 5.8% เมื่อปีที่ผ่านมา
ท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอกสูงขึ้น ภาคการผลิตไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ
ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศมากขึ้น
ภาพการลงทุนภาคเอกชนแม้จะกลับมาขยายตัวในปีนี้จากที่หดตัวแรงในปีก่อน แต่เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนตามกระแสการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนในประเทศด้านอื่นยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก
SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการแผลเป็นโควิดหลายมิติ ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข
ทั้งจาก (1) แผลเป็นภาคธุรกิจ : รายได้ธุรกิจฟื้นแบบ K-Shape สัดส่วนจำนวนบริษัทผีดิบ (Zombie firm) ยังสูงกว่าก่อนโควิด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก (2) แผลเป็นตลาดแรงงาน : แม้ภาพรวมการจ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คุณภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับแย่ลง โดยแรงงานนอกระบบสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบเกือบเท่าตัว
(3) แผลเป็นภาคครัวเรือน : สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ที่ยังสูงเกือบ 90% แม้จะทยอยลดลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อใหม่หดตัว
ทำให้แม้การบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากโครงการเงินโอน 10,000 บาทเฟสที่เหลือ แต่ปัจจัยรายได้ฟื้นช้า หนี้สูง และการเข้าถึงสินเชื่อที่ลดลงจะยังคงกดดันการบริโภคอยู่
และ (4) แผลเป็นภาคการคลัง : เห็นได้จากหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากเทียบก่อนโควิดและมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้ 70% ในอีกไม่กี่ปี แม้รัฐบาลจะขาดดุลสูงในปีงบประมาณ 2568 นี้ แต่กรอบงบประมาณจะสะท้อนข้อจำกัดการคลังในระยะปานกลางมากขึ้นเรื่อยๆ
จากปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างของประเทศที่อ่อนแอเช่นนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบ K-Shape และมีแนวโน้มเติบโตต่ำในระยะข้างหน้า
SCB EIC ประเมิน กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ 1.5% ณ สิ้นปี สาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) ภาวะการเงินจะยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ขณะที่การขายหุ้นกู้ของธุรกิจที่มีอันดับเครดิตไม่สูงเริ่มมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเทียบภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา
และ 2) เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศเช่นนี้
ในระยะข้างหน้า SCB EIC มองว่า ไทยต้อง “เร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน” ทั้งในระยะสั้นและยาวควบคู่กันไป พร้อมการสื่อสารสาธารณะ ในการผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรภาครัฐให้ตอบโจทย์การปรับตัวของประเทศ
โดยเร่งดำเนินการผ่านนโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
มุมมองผลกระทบต่อธุรกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบาย Reciprocal Tariffs และ Specific Tariffs ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี
นอกจากนี้ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ (เช่น จีน) ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิต
เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ
นอกจากนี้ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า ซึ่งคาดว่าอาจเป็นความเสี่ยงที่ซ้ำเติมให้การผลิตในบางอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาผลกระทบเชิงบวกในบางธุรกิจที่ไทยอาจเข้าไปเจาะตลาดสหรัฐฯ แทนจีนหรือเม็กซิโกได้
ในสถานการณ์เช่นนี้ SCB EIC มองว่าผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของ Trump 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ ประกอบด้วย
1) Product : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์/แตกต่างและเพิ่มมูลค่า 2) Place : กระจายตลาด 3) Preparedness : บริหารความเสี่ยงทุกมิติ ทั้งห่วงโซ่อุปทานและงบการเงิน 4) Productivity : เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
19 มีนาคม 2568
ผู้ชม 128 ครั้ง