GGCปรับโครงสร้างธุรกิจดันรายได้ปี73มากกว่า20,000ลบ.
GGCปรับโครงสร้างธุรกิจดันรายได้ปี73มากกว่า20,000ลบ.
GGCปรับโครงสร้างธุรกิจดันรายได้ปี73มากกว่า20,000ลบ.
รุก!ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม/ธุรกิจใหม่หนุน EBITDA แตะ 15%
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ปรับโครงสร้างธุรกิจและเป้าหมายสำหรับปี 2568 เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ Transformation for Future Growth มุ่งเน้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
ทุ่ม 1,500 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจ HVP และธุรกิจใหม่ ดันสัดส่วนแตะ 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% หนุนเป้าหมายรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท รุก EBITDA โต 2 เท่า ปี 2030
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า ปี 2568 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังคงมีแนวโน้มต่อเนื่อง
ส่งผลให้ GGC ต้องเร่งหามาตรการเพื่อบริหารจัดการต้นทุนในปีที่ผ่านมากว่า 215 ล้านบาท และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ เช่น อินเดียและแอฟริกา หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการทำตลาดในจีนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น นับเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของโลกได้อย่างยั่งยืน
บริษัทจึงได้มีการทบทวนโครงการลงทุนสำคัญและการเร่งดำเนินการต่างๆ อย่างระมัดระวัง โดยการปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ ภายใต้กรอบยุทธ์ศาสตร์ Transformation for Future Growth
โดยดำเนินการตาม 3 กลยุทธ์หลัก คือ เข้มแข็ง เติบโต ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยน กลุ่มธุรกิจหลักจาก ธุรกิจพลังงานชีวภาพ (BioEnergy) ไปสู่ ธุรกิจเคมีชีวภาพ (BioChemical) ซึ่งยังมีความต้องการและมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต
รวมถึงเร่งแสวงหาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (High Value Products) ที่ให้ผลตอบแทนสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดเข้ามาเติม เพื่อให้บริษัท รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้วยงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตธุรกิจ จากปัจจุบันสัดส่วน ธุรกิจเคมีชีวภาพ อยู่ที่ 92% ธุรกิจพลังงานชีวภาพ สัดส่วน 7% และ ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและธุรกิจใหม่ สัดสวน 1% เพิ่มมาเป็น 15%
โดยที่ ธุรกิจเคมีชีวภาพ ลดเหลือ 79% และ ธุรกิจพลังงานชีวภาพ เหลือ 6% ซึ่งจะส่งผลให้ GGC สามารถบรรลุเป้าหมายรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ EBITDA โต 2 เท่า ในปี 2030
โดยขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ด้วย 3 Strategic Focus ได้แก่
- Portfolio Transformation : Transform BioEnergy to BioChemicals
- Growth in BioChemicals by Capacity Expansion
- Growth in Specialty Platform with Asset Light Strategy
ทั้งนี้สำหรับภาพรวมธุรกิจเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของ GGC ยังมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สำหรับของใช้ในบ้านและของใช้ส่วนตัว (Home and Personal Care Product: HPC)
ประกอบกับความได้เปรียบทั้งในการเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ โดยในปี 2567 ได้เร่งดำเนินการศึกษาโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และการวางแผนในการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เพียงพอและมีต้นทุนที่แข่งขันได้
ส่วนการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP) เพื่อตอบสนองแนวโน้ม Megatrend ด้านสุขภาพและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดและเพิ่มความยั่งยืนทางธุรกิจผ่านกลยุทธ์การลดการถือครองทรัพย์สิน (Asset Light Strategy) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและสนับสนุนการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้บริษัทได้นำแนวคิด Market Focused Business Transformation (MFBT) มาใช้เป็นกรอบในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการตลาดและการขายที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP)
ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างตรงจุด ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ทางการตลาดเชิงลึก เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและรายได้ใหม่ให้กับบริษัทในระยะยาว
บริษัทได้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) อาหารและส่วนประกอบอาหาร (Food & Feed) 2) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (Cosmetics & Personal Care)
3) โภชนเภสัช (Pharmaceuticals) และ 4) เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Industrial Applications) โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA จากผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVP) และผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในปี 2573
ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการศึกษาโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) และผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Products) เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรให้กับบริษัทในอนาคต
ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทได้มีการขยายผลิตภัณฑ์ Probio Pro Plus+ ในกลุ่มอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ “Nutralist” เพิ่มเติมในกลุ่มคลีนิคและโรงพยาบาล นอกจากนี้ได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVP) ซึ่งจะมีการขายออกสู่ตลาดในปี 2568 ทั้งหมด 2 ผลิตภัณฑ์
ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตัวทำละลายชีวภาพ ภายใต้แบรนด์ “BioSovel” และผลิตภัณฑ์สารเพิ่มความชุ่มชื้นกลุ่มเคมีชีวภาพที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง
บริษัทเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตและดำเนินโครงการลงทุน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568 อย่างไรก็ตามโครงการลงทุนสำคัญใช้ระยะเวลาในการศึกษาและก่อสร้างประมาณ 4 ปี
การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ใช้ระยะเวลาในการทดลองตลาดและสร้างฐานลูกค้า ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งจากแผนกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทฯ จะเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้ในปี 2572 เป็นต้นไป
05 มีนาคม 2568
ผู้ชม 129 ครั้ง