สถิติ

71303178

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้!ปี 68 ธุรกิจประกันชีวิตไทยโต 2.8-3.6%

หมวดหมู่: ประกันภัย

   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้!ปี 68 ธุรกิจประกันชีวิตไทยโต 2.8-3.6%

   จับตา!ปรับพอร์ตสินค้ารับมาตรฐานบัญชีใหม่TFRS17/ดบ.ขาลง

   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิต 9 เดือนปี 2567 เติบโตชะลอลงมาที่ 2.3%YoY จาก 3.6% ในปี 2566 โดยเป็นผลจากเบี้ยรายใหม่หดตัวลงโดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียว

   ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของธุรกิจประกัน และสอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่กระจายการฟื้นตัวและมีผลต่ออำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่

   แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2568 เผชิญปัจจัยท้าทายเพิ่มขึ้น จากสัญญาณอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่คาดว่าจะกลับสู่ขาลง และการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS17 ที่มีผลตั้งแต่ต้นปี 2568

   ประกอบกับโครงสร้างสังคมสูงอายุที่เข้มข้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งคงมีผลต่อการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรายใหม่ในหลายมิติ อย่างไรก็ตามเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไปยังมีแนวโน้มประคองการเติบโตได้ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาพรวมเบี้ยในปี 2568 น่าจะยังเติบโตได้ในกรอบประมาณ 2.8-3.6% ใกล้เคียงกับปี 2566-2567 

เบี้ยประกันชีวิตปี 2567 : เติบโตในระดับต่ำ ท่ามกลางอำนาจซื้อที่อ่อนแรง

   ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิต 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.3%YoY ด้วยอานิสงส์ของเบี้ยปีต่อไปที่ขยายตัวสูง ขณะที่เบี้ยใหม่โตชะลอลงจากปัจจัยทั้งอุปสงค์และอุปทาน ตามการปรับการขายผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้นและคุมสัดส่วนการขายเบี้ยประเภทจ่ายครั้งเดียว

   สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งเป็นฤดูกาลขายและเป็นช่วงสุดท้ายของการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปีนั้น คาดว่าภาพรวมเบี้ยจะขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นแต่ด้วยปัจจัยด้านฐานสูงในปีก่อน ทำให้เบี้ยรวมทั้งปี 2567 คงขยายตัวชะลอลงมาที่ประมาณ 2.6% (กรอบ 2.3-2.9%) เทียบกับที่ขยายตัว 3.6% ในปี 2566

แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2568 : ปัจจัยท้าทายเพิ่ม ขณะที่ปัจจัยเดิมยังรุมเร้า

   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตในปี 2568 น่าจะยังเติบโตได้ในกรอบประมาณ 2.8-3.6% ใกล้เคียงกับปี 2566-2567 โดยคาดว่าเบี้ยรับปีต่อไปจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ร่วมกับการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเบี้ยรับรายใหม่ 

   ปี 2568 ธุรกิจประกันชีวิตต้องรับมือปัจจัยท้าทายเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ทยอยปรับลดลง ซึ่งมีผลให้รายได้จากการลงทุนลดลงและสร้างความท้าทายให้กับการนำเสนอผลตอบแทนของกรมธรรม์ที่จูงใจเพียงพอสำหรับลูกค้าใหม่

   ขณะที่ปัญหาอำนาจซื้อจะยังกดดันความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันต่อเนื่อง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 2.4% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะโตประมาณ 2.6%  

   นอกจากนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 บริษัทประกันชีวิตเริ่มจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานบัญชี TFRS17 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้งบการเงินของบริษัทประกันสะท้อนภาพรายได้และค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับสภาพการดำเนินงานมากขึ้น

   อาทิ (1) การไม่นับเบี้ยประกันทั้งจำนวนเป็นรายได้ของบริษัท แต่จะนับเฉพาะรายได้ส่วนที่เป็นรายรับจากการบริการลูกค้า (คล้ายกับค่าธรรมเนียม หรือ Service Fees

   ที่ต้องทยอยรับรู้ตามสัญญาประกันภัย) (2) การที่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการรับประกันภัยทันทีทั้งจำนวน จากเดิมที่ทยอยรับรู้ระหว่างช่วงสัญญาในรูปเงินสำรองประกันชีวิต

   ทั้งนี้รูปแบบงบการเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิมมีผลกระทบเชิงบัญชีค่อนข้างมากต่อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสะสมทรัพย์โดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียวแต่มีความคุ้มครองระยะยาว

   ซึ่งภายใต้ TFRS17 บริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการลูกค้าหรือรายได้ค่าธรรมเนียมจากการรับประกันภัยต่ำ (อาจเหลือเพียง 10% ของเบี้ยรับ เทียบกับเดิมที่บันทึกเบี้ยรับทั้งจำนวนเป็นรายได้) ขณะเดียวกันยังต้องบันทึกผลขาดทุนที่เกิดจากการรับรองผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาทันทีในปีแรก

   มาตรฐานบัญชีใหม่นี้คงมีผลเพิ่มความซับซ้อนให้กับการวางแผนการขายผลิตภัณฑ์และรับรู้รายได้-ผลขาดทุนต่างๆ ของบริษัทประกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ย้ำภาพการปรับโครงสร้างพอร์ตการรับประกันของแต่ละบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

   โดยปรับเพิ่มสัดส่วนพอร์ตการรับประกันภัย และปรับลดสัดส่วนพอร์ตที่เน้นการออมเงินลง ขณะที่ด้านการจัดการและกลยุทธ์การขายผลิตภัณฑ์ในอนาคต บริษัทประกันคงจะยังเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคมากขึ้น (Customer Centric)

   อาทิ การนำเสนอทุนประกันชีวิตขนาดเล็ก (Small Lot Main Policies) เพื่อลดภาระของผู้เอาประกันที่ต้องการซื้อสัญญาเพิ่มเติมอื่นเป็นหลัก เช่น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น 

ปัจจัยท้าทายและการปรับตัวในปี 2568

ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจประกันชีวิต

การปรับตัวและการปรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกัน

เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร >> กระทบกำลังซื้อของลูกค้าวัยแรงงาน (25-70 ปี) โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท และต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งตามฐานข้อมูลประชากรประจำปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่กว่า 9 และ 2.6 ล้านคนตามลำดับ

นำเสนอแบบประกันที่มีระยะเวลาการชำระเบี้ยนานขึ้น เช่น แบบตลอดชีพ แบบมรดก ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับวงเงินคุ้มครองสูง ขณะที่บริษัทรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยเป็นหลัก

นำเสนอแบบประกันที่มีทุนประกันเล็กลง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อประกันมาก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยในตัวผลิตภัณฑ์ประกัน และลดความเสี่ยงจากการเวนคืนหรือยกเลิกกรมธรรม์ก่อนกำหนดอันอาจทำให้ลูกค้าได้รับเงินคืนน้อยกว่าที่ชำระและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำประกัน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยผ่านจุดสูงสุดและมีโอกาสขยับลง สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยในต่างประเทศ >> กระทบต่อรายได้จากการลงทุนซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามดอกเบี้ย และอาจส่งผลต่อกำไรสะสมและอัตราการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) ให้ปรับลดลง

ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์กลุ่ม High Value ที่มีลักษณะให้ความคุ้มครองภัยสูง ร่วมกับการปรับลดพอร์ตผลิตภัณฑ์กลุ่มสะสมทรัพย์ (Endowment) ที่มีลักษณะรับรองผลตอบแทนคล้ายดอกเบี้ย

• ปรับลดผลตอบแทนสำหรับแบบประกันที่รับรองการจ่าย (Guaranteed Benefit) เช่น ประกันสะสมทรัพย์ที่กำหนดอัตราผลตอบแทนตลอดสัญญาไว้

• ขยายผลิตภัณฑ์ประเภทมีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Product) ผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงค์ (Unit Linked) และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (Universal Life) เพื่อให้บริษัทรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยเป็นหลัก ขณะที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น รับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการ

โครงสร้างประชากรสูงวัยมีสัดส่วนสูงขึ้นทุกปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% ต่อปี >> ทำให้ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายช่วงอายุของการรับประกันสุขภาพจากเดิมไม่เกิน 60 ปี เป็น 80 ปี

ขยายตลาดสัญญาประกันสุขภาพต่อเนื่อง ร่วมกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการการเคลมสินไหม เพื่อควบคุมต้นทุนและควบคุมอัตราเบี้ยประกันไม่ให้แพงขึ้น สอดคล้องกับกำลังซื้อและรายได้ของผู้บริโภค

แนวทางการเคลมสินไหมในระยะต่อไป อาจมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยควบคุมต้นทุน แต่อาจกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้แรงจูงใจในการซื้อประกันสุขภาพลดลง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเคลมการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้หวัด และข้อกำหนดการรับประกันแบบมีเงื่อนไขให้ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษา (Co-Payment) เป็นต้น

   กล่าวโดยสรุปโครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฐานลูกค้ารายหลักซึ่งไม่อาจผูกติดกับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกินไป

   ดังเช่นในอดีตที่อาจผลักดันการเติบโตได้ด้วยการระดมยอดขายประเภทจ่ายครั้งเดียวในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง แต่จำเป็นต้องขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีรายได้รองลงมา ท่ามกลางข้อจำกัดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กดดันอำนาจซื้อ

   อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันยังสามารถต่อยอดการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะมิติที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครอง และประกันสุขภาพ โดยที่ยังต้องเน้นการบริหารจัดการต้นทุน

   ปรับผลิตภัณฑ์ให้เบี้ยเข้าถึงได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการเข้าถึงลูกค้าและสามารถนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ด้วยขั้นตอนที่ลดลง

16 ธันวาคม 2567

ผู้ชม 44 ครั้ง

Engine by shopup.com