"บางกอกแอร์เวย์ส" ชี้!การบินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโต 19.7%
"บางกอกแอร์เวย์ส" ชี้!การบินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโต 19.7%
"บางกอกแอร์เวย์ส" ชี้!การบินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโต 19.7%
โชว์!รายได้ผู้โดยสาร14,006ลบ.โต26%-ย้ำ!ปี67โตตามแผนงาน
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ชี้การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตสูงสุดเฉลี่ย19.7% ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางของไทย
พร้อมดำเนินแผนการเพิ่มเที่ยวบินและเครื่องบินสำหรับเส้นทางที่มีศักยภาพ การท่องเที่ยวระยะใกล้ (Short Haul) เพื่อรองรับอุปสงค์การเดินทางช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวส่งท้ายปี ตลอดถึงไตรมาสแรกของปี 2568
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกในปี 2567 นี้ ยังคงมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของทุกภูมิภาคทั่วโลก
โดยจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่าการเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.7% และการเดินทางระหว่างประเทศจากยุโรปสู่ทวีปเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงสุด 23.1%
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินเติบโตในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยการเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ คาดว่าจะเติบโตที่ 17.2% ในปี 2568
จากทิศทางการเดินทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยคาดว่า มีการเติบโตสอดคล้องเป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ภาพรวมการดำเนินงานของ บางกอกแอร์เวย์ส ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 นี้ บริษัทมีจำนวนผู้โดยสาร 3.31 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และเป็นสัดส่วน 75% ของช่วงก่อนโควิด
อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (%Load Factor) 82% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 จุด เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยจะสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 68% และรายได้ผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% ของช่วงก่อนโควิด-19 จึงสะท้อนได้ถึงศักยภาพของ บางกอกแอร์เวย์ส ที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี 2567 นี้ได้
“เพื่อตอบรับอุปสงค์การเดินทางที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินกำลังพลิกฟื้นใกล้เคียงระดับช่วงก่อนโควิด-19 บริษัทจึงได้ดำเนินกลยุทธ์เส้นทางบินโดยเน้นเส้นทางที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และทำกำไร
และเพิ่มความถี่เที่ยวบินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาระดับอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ให้อยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทได้กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางสู่กระบี่เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับเส้นทางบินตรง “เชียงใหม่–กระบี่” (เที่ยวเดียว) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเพิ่มความถี่เที่ยวบินที่มีความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นในช่วงไฮซีซั่น
ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่น่าพึงพอใจ โดยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารในเส้นทางกว่า 80% อีกทั้งยังมองแนวโน้มทิศทางการท่องเที่ยวเป็นบวก จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าที่สะท้อนภาพรวมการท่องเที่ยวช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 นี้
ต่อเนื่องจนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ที่มีอัตราการจองเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการจองในเส้นทางสมุยเติบโตสูงสุด 25%
ทั้งนี้สำหรับแผนการเปิดเส้นทางอื่นๆ ในอนาคตบริษัทได้ศึกษาเส้นทางศักยภาพและทยอยกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางที่เคยปฏิบัติการบินในช่วงก่อนโควิด-19
โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเส้นทางบิน “สมุย-กัวลาลัมเปอร์” ในไตรมาส 4 ปี 2568 ที่จะให้บริการทุกวัน จำนวนวันละ 1 เที่ยวบิน เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางและเป็นจุดเชื่อมต่อผู้โดยสารจากยุโรปเดินทางเข้าเกาะสมุย
นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เพื่อรองรับอุปสงค์การเดินทางที่เติบโตขึ้น บริษัทจึงได้จัดหาเครื่องบินรูปแบบแอร์บัสจำนวน 2 ลำ (Wet Lease) ภายในปี 2567 นี้ โดยเริ่มทำการบินระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นช่วงไฮซีซั่น
“บางกอกแอร์เวย์ส ยังคงมุ่งมั่นตอกย้ำศักยภาพสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลกและเอเชีย โดยหนึ่งในแผนงานสำคัญในปี 2568 สายการบินฯ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมใหญ่ของสมาคมสายการบินแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2568
“69th AAPA Assembly of President 2025” ภายใต้วัตถุประสงค์ในการร่วมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางกลุ่มอุตสาหกรรมการบินอย่างมีศักยภาพ
โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัยและเอื้อต่อการปรับใช้กับภาคอุตสาหรรมการบินได้อย่างเหมาะสม
โดย บางกอกแอร์เวย์ส มีบทบาทสำคัญในการกำหนดการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายในอุตสาหกรรมการบินรวมถึงการผลักดันโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพภายใต้ความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของภาคอุตสาหกรรมการบินโลก
รวมถึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้สร้างประสบการณ์ความประทับใจแก่ผู้นำสายการบินที่มาเยือนในครั้งนี้ เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคต่อไปในอนาคต” นายพุฒิพงศ์ กล่าวสรุป
03 ธันวาคม 2567
ผู้ชม 886 ครั้ง