"สรวงศ์" ปลื้ม อพท. ดัน "ชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน"
"สรวงศ์" ปลื้ม อพท. ดัน "ชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน"
"สรวงศ์" ปลื้ม อพท. ดัน "ชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน"
คว้ารางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก Best Tourism Village 2024 แห่งแรกของไทย
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้เสนอชื่อ “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน” ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. โดยได้มอบหมายให้ อพท ร่วมสนับสนุนการ พัฒนาและเป็นพี่เลี้ยง
จนคว้ารางวัลและการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับโลก Best Tourism Village จากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) แห่งแรกของประเทศไทย
ตอกย้ำความสำเร็จในการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและภาคีเครือข่ายมาร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และชูความโดดเด่นด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนของไทย
อพท. เดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล - พัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ รมว.กก. ทำหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น
โดยกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงประสานหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน มีคุณภาพเป็นเป้าหมายในการมาเยือนของนักท่องเที่ยว
โดยนำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลเป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นและทำให้แหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
รางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก Best Tourism Villages UN Tourism
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประกวดรางวัล Best Tourism Villages by UN Tourism หรือองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล
ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมพลังของสตรีและเยาวชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา รวมทั้งยังเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม
ซึ่งมีหลักเกณฑ์การประเมินชุมชนเพื่อพิจารณาเป็นชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก Best Tourism Village ด้วยกัน 9 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
2) การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรม 3) การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนรวมถึงการกระจายรายได้และการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน 4) การจัดการสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
5) การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากทั้งการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต 6) การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าทางการท่องเที่ยว 7) การมีธรรมาภิบาลและให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
8) ระบบสาธารณูปโภคและการเชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น และ 9) การบริการสุขภาพ สุขอนามัยและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
โดย UN Tourism มีการมอบรางวัลใน 3 ประเภท ได้แก่ (1) รางวัล “Best Tourism Villages by UN Tourism” ซึ่งจะยกย่องและประชาสัมพันธ์หมู่บ้านที่มีความโดดเด่นในการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นที่ยอมรับพร้อมทั้งรักษาและส่งเสริมคุณค่าของชุมชน
(2) รางวัล “Best Tourism Villages by UN Tourism” Upgrade Programme ที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาหมู่บ้านที่เสนอชื่อเข้ามาแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินในครั้งแรก เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบของพื้นที่ให้ได้มาตรฐานเพื่อแข่งขันในปีต่อไป
และ (3) รางวัล “Best Tourism Villages by UN Tourism” Network ที่สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลและหมู่บ้านในโครงการ Upgrade Programme เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวต่อไป
สำหรับชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน เป็นชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ที่พัฒนาตามเกณฑ์ CBT Thailand และเกณฑ์ GSTC มาตั้งแต่ปี 2555
โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนแบบบูรณาการทั้งในระดับจังหวัดและเชื่อมโยงสู่ระดับพื้นที่ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล
ในปี 2564 อพท. ได้เสนอชื่อ “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก” ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้ ท.ท.ช. เข้าร่วมโครงการ Best Tourism Villages ของ UN Tourism และได้รับรางวัลในกลุ่ม Upgrade Programme
ต่อมา อพท. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก ตามแนวทางการพัฒนาของ UN Tourism โดยชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและในปี 2567
ได้เสนอ “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก” เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ Best Tourism Villages 2024 ในกลุ่ม Fast Track ซึ่งเป็นการคัดเลือกชุมชนที่เคยได้รับรางวัลในกลุ่ม Upgrade Programme มาก่อน
และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 “ชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก” ได้รับการประกาศให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลกแห่งแรกของประเทศไทย “The first Best Tourism Village by UN Tourism 2024 of Thailand ”
และ อพท. ได้นำนายสุทธิพงษ์ ดวงมณีรัตน์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก เข้ารับมอบรางวัลในการประชุมสภาบริหารองค์การการท่องเที่ยวโลก (Executive Council) ครั้งที่ 122
โดยมีเลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ Mr.Zurab Pololikashvili, Secretary-General of the UN Tourism เป็นผู้มอบรางวัล ณ ศูนย์การประชุมเมืองการ์ตาเฮนา สาธารณรัฐโคลอมเบีย
ซึ่งชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวกมีความโดดเด่นในด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทั้งในส่วนของ อพท. ที่มีหน้าที่ในการประสานงานกับองค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (DMO)
ทั้งในระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่นทุกภาคส่วนและองค์กรภาคประชาชน เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
ขอบคุณ อพท. พี่เลี้ยงของชุมชน
นายสุทธิพงษ์ ดวงมณีรัตน์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก กล่าวถึงที่มาของความสำเร็จว่า แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นอีกเครื่องมือของการพัฒนาชุมชน บ่อสวกมีต้นทุนแหล่งโบราณคดี (เตาเผาโบราณ)
มีมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน เมื่อได้รับโอกาสจาก อพท. ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชุมชนได้ใช้เวทีประชาคมคัดสรรค์สิ่งดีๆ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
โดยมี อพท.เป็นพี่เลี้ยงทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน คืออะไร ทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร" ด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นบททดสอบการขับเคลื่อนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เคยผ่านการรับรางวัลกินรี ผ่านมาตรฐาน CBT Thailand
เมื่อมีโอกาสในการเสนอผลงานและได้รับเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย Best Tourism Villages by UN Tourism ประเภท Upgrade Programme ได้รับโอกาสการพัฒนาตามข้อเสนอแนะโดยมี อพท. ส่งเสริมสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง
จนปี 2567 ได้รับการยอมรับให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลกและเป็นสมาชิกเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชุมชนมีพลังที่จะร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนารักษามรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยังอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป
ในนามชุมชนขอขอบคุณรัฐบาล กก. และภาคีทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ อพท. ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ชุมชนตำบลบ่อสวกก้าวข้ามสิ่งต่างๆ การพัฒนามาถึงความภาคภูมิใจร่วมกันกับรางวัลดังกล่าว
รางวัล Best Tourism Villages by UN Tourism ของชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญของ กก. และ อพท. ในการร่วมขับเคลื่อนและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษสู่มาตรฐานสากล
เนื่องจากรางวัล Best Tourism Villages by UN Tourism ที่ชุมชนท่องเที่ยวตำบลบ่อสวกได้รับใน ครั้งนี้ เป็นรางวัลที่มีมาตรฐานเข้มข้น เป็น 1 ใน 254 ชุมชนจากทั่วโลก และเป็น 1 เดียวของประเทศไทย
ขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันภาคภูมิใจและร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้บ่อสวก เป็น 1 ในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวคุณภาพได้มาเยี่ยมชมและค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกัน
02 ธันวาคม 2567
ผู้ชม 674 ครั้ง