ไทยพาณิชย์ ติดปีก! SME ปรับตัวสู่ ESG เพื่อความยั่งยืน
ไทยพาณิชย์ ติดปีก! SME ปรับตัวสู่ ESG เพื่อความยั่งยืน
ไทยพาณิชย์ ติดปีก! SME ปรับตัวสู่ ESG เพื่อความยั่งยืน
ผนึกองค์กรรัฐ-ดอกเบี้ย3.99%-ตั้งเป้าสินเชื่อปีละ3,000ลบ.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อยอดแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” เดินหน้าปฏิบัติการส่งต่อความยั่งยืนสู่ลูกค้าเอสเอ็มอีด้วยโครงการ “เริ่ม เพื่อ รอด” มุ่งเปลี่ยนความท้าทายจากกระแสความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ
เตรียมอัดฉีดเงินทุนแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลังภาครัฐมอบแคมเปญพิเศษค่าปรึกษาทางด้านการปรับตัวธุรกิจ
พร้อมเปิดตัว Mentor 4 Sustainability นำเจ้าของกิจการที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงและเทคนิคการวางยุทธศาสตร์การทำงาน
เพื่อสร้างผลลัพธ์ได้เร็วและเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จากสินเชื่อใหม่ SME ปีละ 40,000 ล้านบาท ในขณะที่พอร์ตอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท ส่วนหนี้เสียลดลงจาก 3.2% เหลือ 2.9%
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงเผชิญความท้าทายสำคัญจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ตามด้วยต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ความกังวลทางเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งใหม่ๆ
ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายทั้งในรูปแบบสินเชื่อ การจัดกิจกรรมสัมมนาและหลักสูตรการให้ความรู้ต่างๆ
ส่งผลให้การบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 พอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีจำนวน 250,893 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นจาก 3.2% เหลือ 2.9% เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2566
ทั้งนี้คลื่นความท้าทายใหม่ที่กำลังสร้างผลกระทบให้แก่เอสเอ็มอีไทย คือ การปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG)
เพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนใหญ่ของซัพพลายเชนที่ต้องปรับตัวตามธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่เร่งดำเนินการจะเสียโอกาสทางการค้าและสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ซึ่งจากการทำกิจกรรมร่วมกับเอสเอ็มอีในหลักสูตรต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่า จุดอ่อนของเอสเอ็มอีในการปรับตัวเข้าสู่กระแส ESG มี 5 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่
1)ขาดความรู้และความเข้าใจ 2) กังวลต่อต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากการปรับตัว 3) เงินทุนและสภาพคล่องที่อาจไม่เพียงพอ 4) คู่ค้ายังไม่ให้ความสำคัญและอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ และ 5) ความตระหนักรู้ของพนักงานค่อนข้างจำกัด
นางพิกุล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวอย่างต่อเนื่องด้วยกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านความยั่งยืน
อาทิ โครงการ Bootcamp โครงการ IEP โครงการ DSM โครงการ IBE โครงการ The Dots โครงการ ITP และล่าสุด โครงการ Phuket ESG Start Now ซึ่งมีผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 รายจากหลากหลายอุตสาหกรรมผ่านการอบรมการปรับตัวสู่ความยั่งยืน
นอกจากนี้ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในกิจการ การจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดมลพิษ โดยนับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปีละ 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยปีละ 40,000 ล้านบาท
ด้วยแนวคิดธนาคารไทยพาณิชย์ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยประกาศแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี
- โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่นๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว รวมถึงการให้ทุนสนับสนุน เอสเอ็มอีเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน อาทิเช่น การร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแคมเปญเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนค่าบริการสนับสนุนด้านการ พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน หรือ ESG วงเงินช่วยเหลือ อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รวมทั้งหมด ไม่เกิน รายละ 500,000 บาทต่อนิติบุคคล โดยมี SCB เป็นช่องทางหลักในการ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าว
“การปรับตัวเพื่อรับกับกระแส ESG ต้องดำเนินการควบคู่ทั้งการอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้วยแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” จะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย
เพิ่มความตระหนักรู้และเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เอสเอ็มอีที่เริ่มก่อน มีโอกาสรอดก่อน และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมากมาย
อาทิ การเข้าถึงสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี การดึงดูดนักลงทุนและลูกค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจสีเขียว ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท” นางพิกุล กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
ทั้งนี้ธนาคารยังได้นำ 2 ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ปรับตัวแล้วและประสบความสำเร็จร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ได้แก่ บริษัท เอ็นจีเอ็ม-เอ็กซ์ จำกัด ผู้เริ่มทำ Solution Down Gauging เป็นการลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกในการผลิต
โดยการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง ทำให้สามารถลดขนาดความหนาของพลาสติกลงได้ แต่ยังคงประสิทธิภาพดังเดิม และบริษัท บีซีแอล 2002 จำกัด ผู้พัฒนาเส้นใยนวัตกรรม “PERMA Nano Zinc” ภายใต้แบรนด์ PERMA ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ด้วยการฝัง Nano Zinc ลงในเนื้อเส้นใยโดยไม่ใช้สารเคลือบหรือโลหะหนัก จึงไม่มีการหลุดลอกในระหว่างการใช้งาน ได้รับการรับรองจากการทดสอบ Cytotoxicity ตามมาตรฐาน ISO 10993-5 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดงานแถลงข่าว “เริ่ม เพื่อ รอด” จัดขึ้นในรูปแบบสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) ด้วยการดำเนินกิจกรรมภายในงานในรูปแบบคาร์บอนต่ำ
อาทิ การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ในการจัดงาน การจัดอาหารและเครื่องดื่มด้วยภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแนะนำการเดินทางด้วยระบบสาธารณะ
โดยแสดงผลการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์จากการเดินทางของผู้ที่เข้าร่วมงานจากการลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้า และได้รับการตรวจสอบจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ พร้อมกันนี้ธนาคารจะซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนที่มีการแยกขยะ เพื่อนำมาชดเชยจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในงาน
ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางความยั่งยืนและผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนได้ทาง https://www.scb.co.th/th/sme-banking/total-solutions/campaign-solution/sme-go-green.html
15 พฤศจิกายน 2567
ผู้ชม 29 ครั้ง