สถิติ

67111802

ทรู คอร์ปอเรชั่น โชว์Q11/67 กำไร 802 ลบ.

   ทรู คอร์ปอเรชั่น โชว์Q11/67 กำไร 802 ลบ.

   ควบคู่ EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน

   บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พลิกฟื้นธุรกิจภายใน 1 ปีหลังควบรวมทรูและดีแทค รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 มีกำไรภายหลังการปรับปรุงหลังหักภาษี (Normalized Net Profit After Tax) จำนวน 802 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน

   รายได้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจมือถือ ออนไลน์ และธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก พร้อมการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างที่ส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ

   นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถพลิกสถานการณ์กลับมามีกำไรได้ภายในเวลาเพียง 12 เดือนหลังการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค 

   ผลประกอบการทางการเงินในไตรมาส 1/2567 นับเป็นความสำเร็จที่พิสูจน์ถึงการมุ่งเน้นการดำเนินงานที่เป็นเลิศและความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัท พร้อมทั้งการเติบโตในเชิงคุณภาพของจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ในระยะยาว

   ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการให้บริการ เติบโตอย่างสม่ำเสมอในทุกไตรมาส พร้อมทั้ง EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน การเติบโตอย่างยั่งยืนนี้เกิดจากการควบคุมต้นทุนอย่างมีวินัย การนำเทคโนโลยีเสริมบริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

   รวมทั้งการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเครือข่ายที่ดีที่สุด โดยเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

   โดยมีเครือข่าย 5G ครอบคลุม 99% ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และครอบคลุม 90% ทั่วประเทศ ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในการให้บริการที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

   แต่ยังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความต้านทานสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมตำแหน่งในฐานะบริษัทโทรคมนาคมที่ยั่งยืนที่สุดอันดับ 1 ในโลกด้วยคะแนน DJSI 2023 สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

   สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น การลงทุนของภาคเอกชนที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

   ตลอดจนปัจจัยบวกต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเร่งผลักดัน ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย

   ที่พร้อมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยการร่วมสร้างประสบการณ์ระดับเวิลด์คลาสเพื่อลูกค้า โดยแบรนด์ทรูและดีแทคยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

   ชูจุดเด่นเครือข่ายที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์เพื่อมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นและน่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวยุคดิจิทัลอย่างครบครัน รวมถึงตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างตรงใจผ่านระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI

   นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูและดีแทค ยังคงเป็นแบรนด์ยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าว มีการนำความสามารถที่ล้ำสมัยในการวิเคราะห์และเทคโนโลยี AI มาใช้ในการนำเสนอข้อเสนอแบบเฉพาะบุคคลและมีเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

   โดย ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คนภายในปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งเปลี่ยนการทำงานที่ทำเป็นประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 

   ยังได้พัฒนานวัตกรรมผู้ช่วยในการให้บริการลูกค้า AI อัจฉริยะ “Mari” (มะลิ) ที่สามารถให้บริการทั้งในระบบแชต และบริการแบบเสียงโดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์

   ซึ่ง Mari จะเป็นผู้ช่วยในการให้บริการลูกค้าอัจฉริยะ AI หนึ่งเดียวในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่มีความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ และสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำต่างๆ อย่างเหมาะสมให้แก่ลูกค้า

   ในไตรมาส 1/2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) อย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้าในประเทศไทย โดยได้พัฒนาเสาสัญญาณรวม 3,700 แห่งจนถึงปัจจุบัน

   ซึ่งส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่ายดียิ่งขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังคงพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ล้ำสมัย ซึ่งตรวจสอบการใช้งานเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

   ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานดาต้า การบริหารความจุโครงข่าย ความสมบูรณ์ของระบบ และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ โดยรายงานการใช้งานแบบเรียลไทม์ และการปฏิบัติงานเชิงลึกภายในเครือข่าย ทำให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดต่อลูกค้าน้อยที่สุด

   นอกจากนี้โซลูชัน AI ที่สถานีฐานยังช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 15% ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 50% ของสถานที่ตั้งเสาสัญญาณทั่วประเทศ และติดตั้งเสาสัญญาณพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 9,700 แห่ง ซึ่งช่วยให้ทรูบรรลุการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

   ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับข้อเสนอคุณค่าเพิ่มเติมเพื่อยกระดับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของลูกค้า ทำให้แบรนด์ดีแทคและทรูยังคงครองความเป็นผู้นำในกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าว

   ในไตรมาส 1/2567 การให้ความสำคัญเชิงคุณภาพในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 800,000 ราย หรือ 1.6% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 51.1 ล้านราย

   ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบรายเดือนและออนไลน์ได้รับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการปรับปรุงจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สำหรับผู้ใช้งาน 5G มีจำนวน 11 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.7% QoQ

   นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยความยินดีว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ โดยมีกำไรภายหลังการปรับปรุง 802 ล้านบาท พร้อม EBITDA เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกันในไตรมาส 1/2567 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

   โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจมือถือ ออนไลน์ และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก รายได้รวมในไตรมาสแรกยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง 1.9% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดขายอุปกรณ์ลดลงจากปัจจัยฤดูกาล

   รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน จากจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าเดิม

   รายได้จากการให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน ด้วยแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU จากการลดลงของการให้ส่วนลดและการยกระดับลูกค้าปัจจุบันไปสู่แพ็กเกจต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

   ในขณะที่รายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากปีก่อนและไตรมาสก่อน จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้จากธุรกิจดนตรีและบันเทิง

   ในไตรมาส 1/2567 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 7.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และการมุ่งเน้นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ในไตรมาสที่ 1/2567

   ต้นทุนจากการขายลดลงสอดคล้องกับยอดขายสินค้าที่ลดลงในไตรมาสนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสที่ 1/2567 ลดลง 28.8% จากปีก่อน และ 8.9% จากไตรมาสก่อน โดยได้ประโยชน์จากการควบรวมด้วยการบริหารต้นทุนค่าคอมมิชชั่นและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนหนี้เสียที่ลดลง

   ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ยังคงได้รับการควบคุมอย่างดีจากการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร

   สำหรับสามเดือนแรกของปีนี้ EBITDA เพิ่มขึ้น 21.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.8% จากไตรมาสก่อน โดย EBITDA สำหรับไตรมาส 1/2567 ปรับตัวดีขึ้น 1,082 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของรายได้

   ในขณะที่การเติบโตประมาณ 40% เกิดจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการดีขึ้นเป็น 57.2% สำหรับไตรมาสที่ 1/2567

   ในไตรมาส 1/2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 1,571 ล้านบาท ส่งผลให้มีขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี จำนวน 769 ล้านบาท

   ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีจะอยู่ที่ 802 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1,182 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ 3,557 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม”

   ทรู คอร์ปอเรชั่น มั่นใจในการบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้สำหรับปี 2567 ด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่สร้างกำไรอย่างยั่งยืนด้วยการเร่งดำเนินการในการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม

   ในขณะเดียวกันก็ยังคงปลูกฝังวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2567 ตามเดิม โดย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC)  จะมีการเติบโต 3-4% 

   EBITDA จะมีการเติบโต 9-11% และค่าใช้จ่ายลงทุนรวมงบลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะสามารถทำกำไรภายหลังการปรับปรุง (Normalized) ได้ในปี 2567

ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญในไตรมาส 1 ปี 2567

  • รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC จำนวน 41,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% (YoY) และ 1.5% (QoQ)
  • EBITDA อยู่ที่ 23,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% (YoY) และ 4.8% (QoQ)
  • อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการ อยู่ที่ 2%
  • กำไรสุทธิภายหลังการปรับปรุง (Normalized) จำนวน 802 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,182 ล้านบาท

06 พฤษภาคม 2567

ผู้ชม 331 ครั้ง

Engine by shopup.com