กรุงเทพประกันภัย ปักธง!ปี67 โตตามเทรนด์ ปั๊มเบี้ย 32,500 ลบ.
กรุงเทพประกันภัย ปักธง!ปี67 โตตามเทรนด์ ปั๊มเบี้ย 32,500 ลบ.
กรุงเทพประกันภัย ปักธง!ปี67 โตตามเทรนด์ ปั๊มเบี้ย 32,500 ลบ.
ตั้งหลัก!ปรับโครงสร้างสู่ก้าวใหม่-ผุด!ชั้น1เอาใจวัยเก๋า/สัตว์เลี้ยง
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า บริษัทสามารถสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมได้ถึง 29,915.7 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ร้อยละ 12.1
มีกำไรจากการรับประกันภัย 2,070.1 ล้านบาท มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,299.5 ล้านบาท และบริษัทมีผลกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,043.8 ล้านบาท
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.50 บาท รวมทั้งปี 16.75 บาท พร้อมยืนหยัดความแข็งแกร่งทางด้านการเงินด้วยการมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยอยู่ที่ร้อยละ 185.9 (ณ 30 ก.ย. 66)
และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ พ.ย. 66) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2567 สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 5.0-6.0 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
โดยได้รับผลบวกจากประกันภัยสุขภาพที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ
แต่ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรถยนต์ EV มีอัตราเบี้ยประกันภัยโดยเฉลี่ยที่สูงกว่ารถยนต์ใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้ปริมาณเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยรวมน่าจะยังคงเติบโตได้
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เช่นเดียวกับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ
ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อาจไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเสี่ยงภัย รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption ที่กระทบต่อการผลิตเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยจะยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ตลาดรับประกันภัยต่อโดยรวมมีการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้น 5-10% แม้จะเป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา
และจะยังคงมีแรงกดดันจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและมีความถี่สูงขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะภัยจากพายุฝนและน้ำท่วม ตลอดจนต้นทุนการชดใช้ค่าสินไหมทดเเทนที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามตลาดเริ่มเห็นสัญญาณของอัตราเบี้ยประกันภัยที่คงที่หรือเริ่มลดลงในบาง Segment อันเป็นผลจากการที่ตลาดรับประกันภัยต่อมีกำไรจากการดำเนินงานที่ดีในปีที่ผ่านมา
เนื่องจากไม่มีมหันตภัยขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดค่าสินไหมทดแทนจำนวนมหาศาล รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยต่อมาหลายปีติดต่อกัน
2024 Year of Transformation and Embracing Regenerative Approach towards Sustainability
หลังจากในปี 2566 เป็นปีแห่งการ Resilience พลิกฟื้นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับไปสู่จุดที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิมในทุกมิติ ผ่านการปลูกฝัง Mindset แก่บุคลากรให้เรียนรู้จากวิกฤติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น
รวมถึงสร้างจิตสำนึกความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างเบี้ยประกันภัยและผลกำไรให้เติบโตได้อย่างโดดเด่นเป็นประวัติการณ์
โดยในปี 2567 บริษัทได้พัฒนาต่อยอดสู่การเป็นปีแห่ง Regenerative ซึ่งหมายถึง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าที่บริษัทจะส่งมอบให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเชิงบวกจากผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ของบริษัทเพิ่มเติมจากคุณค่าที่เคยได้รับ ซึ่งผลกระทบเชิงบวกนั้นจะช่วยชดเชย ซ่อมเสริม หรือพลิกฟื้นสิ่งที่เคยสูญเสีย หรือบกพร่องให้กลับสู่สภาพปกติ
ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือคุณภาพชีวิต ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวังนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการบริการที่เหนือความคาดหวัง สามารถตอบโจทย์ทุก Pain Point ของลูกค้าและคู่ค้า
ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว ยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอีกด้วย
BKIH การเปลี่ยนแปลงกับโอกาสครั้งสำคัญ
โดยในปี 2567 นี้ กรุงเทพประกันภัย เดินหน้าเข้าสู่ก้าวใหม่ในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หรือ Transformation หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างบริษัทผ่านการจัดตั้งบริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุดบริษัทได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer)
โดยบริษัทได้กำหนดระยะเวลาในการแลกเปลี่ยนหุ้น “BKI” เป็นหุ้น “BKIH” ในช่วงระหว่างวันที่ 25 มีนาคม–5 มิถุนายน 2567 รวมทั้งสิ้น 45 วันทำการ
จากนั้นจะนำหุ้น BKIH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนที่หุ้นของกรุงเทพประกันภัย ประมาณช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567 นี้
โดยถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มความคล่องตัวในการขยายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายและมีศักยภาพ ต่อยอดสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดยภายหลังการปรับโครงสร้างใหม่นี้ BKIH ก็จะยังมีรายได้หลักและการลงทุนสำตัญใน บมจ.กรุงเทพประกันภัย ส่่วนธุรกิจใหม่ๆ นั้นกำลังศึกษาอยู่โดยเฉพาะธุรกิจ Insure Tech ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลการลงทุนดังกล่าวได้ในอีก 2 ปีหลังจากนี้
พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงและเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 นี้ กรุงเทพประกันภัย ได้ตั้งเป้าหมายด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 32,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.0 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 13,690 ล้านบาท ที่จะรักษาสัดส่วนไม่เกิน 41-43% ของพอร์ตเบี้ยประกันภัยรวม ในขณะที่เบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์ หรือ Non-Motor จะอยู่ที่จำนวน 18,810 ล้านบาท
โดยแนวทางการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรไทยและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความเสี่ยงต่างๆ
ในรูปแบบ Personalized Insurance พร้อมส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุและไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ได้แก่
- ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 อุ่นใจวัยเก๋า
พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยบริษัทได้พัฒนาแผนประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 อุ่นใจวัยเก๋า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัย 55-75 ปี ที่ชื่นชอบขับรถด้วยตนเอง
ซึ่งนอกจากจะได้รับความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แล้ว ยังเพิ่มเติมความคุ้มครองอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุม รองรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อมอบความอุ่นใจให้ผู้สูงวัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล
อาทิ เงินชดเชยกายภาพบำบัด เงินชดเชยค่าเวชภัณฑ์คงทนใช้ภายนอกร่างกาย (เวชภัณฑ์ 2) ที่จำเป็นต้องใช้หลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน รถเข็นผู้ป่วย เฝือกพยุงคอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการ Nursing Care Service at Home ด้วยการมีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลลูกค้าถึงบ้านอีกด้วย
- ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 เพิ่มความคุ้มครองสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) โดยไม่เพิ่มเบี้ยประกันภัย
ด้วยเทรนด์ Pet Humanization ที่กำลังมาแรง ประชาชนให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น กรุงเทพประกันภัยเข้าใจในความต้องการของลูกค้า
จึงมอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ทุกแผนประกันภัย ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าที่ต่ออายุ ด้วยความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลของสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว)
ที่อยู่ภายในรถยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการชน 10,000 บาท/ตัว/ครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครอง 10,000 บาท/ตัว/ครั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มแต่อย่างใด
- ประกันภัยสุขภาพ (เพิ่มความคุ้มครองจิตเวช)
ท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่ไม่แน่นอน เปราะบาง และมีแรงกดดันมากขึ้น บริษัทจึงมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจของผู้คนในสังคม ผ่านแผนประกันภัยสุขภาพที่มอบความคุ้มครองทั้งทางร่างกายและจิตใจ
โดยจะมีการเพิ่มความคุ้มครอง เช่น การตรวจรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ (Mental Health) การดูแลโดยพยาบาลเฝ้าไข้พิเศษ การรักษาโดยแพทย์ทางเลือก การตรวจสุขภาพ เงินชดเชยรายวันระหว่างการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย โดยมีแผนประกันภัยให้ลูกค้าเลือกตามความเหมาะสม ทุนประกันภัยตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท รับประกันภัยอายุ 16-70 ปี และสามารถต่ออายุได้ถึง 80 ปี
- ประกันภัยสุขภาพ ผ่าน Telemedicine
วิกฤติโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว บริการแพทย์ทางไกลในรูปแบบ Telemedicine จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
โดยบริษัทเตรียมนำเสนอแผนประกันภัยสุขภาพ สำหรับ Telemedicine ซึ่งจะเป็นการปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Clicknic ที่รองรับถึง 55 อาการของโรคที่สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ทางไกลได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ เจ็บคอ ผื่นคัน ตาเจ็บ ฯลฯ
พร้อมช่วยลดความกังวลด้วยบริการจัดส่งยาให้ถึงบ้านภายใน 1 ชั่วโมงสำหรับในเขตกรุงเทพฯ และเฟสถัดไปในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้ บริษัทจะยกระดับบริการด้าน Telemedicine ด้วยการขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงบริการปรึกษาแพทย์ทางไกลสำหรับการตรวจรักษา
อาการหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้ประชาชนต้องประสบกับภาวะความเครียด ซึ่งก่อให้เกิดโรคทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งรูปแบบนี้จะมีอัตราเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าการประกันสุขภาพที่พบแพทย์ในโรงพยาบาล
- ประกันภัยสำหรับคอนโด
ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนอยู่อาศัยภายในคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงได้พัฒนาแผนประกันภัยที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
โดยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับคอนโดให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในคอนโดมิเนียมอันมีสาเหตุจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยจากลมพายุ ลูกเห็บ หรือน้ำท่วม รวมถึงคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกิดเหตุภายในคอนโดมิเนียม
และกรณีความเสียหายจากการถูกโจรกรรมที่มีวงเงินความคุ้มครองตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท เพื่อเพิ่มความสบายใจให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังครอบคลุมถึงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เช่น กรณีน้ำรั่วซึมไปยังห้องอื่นๆ จนเกิดความเสียหาย ฯลฯ โดยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 1,290 บาท
“แคร์คุณทุกย่างก้าว” ด้วยการให้บริการที่ใส่ใจ
กรุงเทพประกันภัย มุ่งพัฒนานวัตกรรมการบริการที่เหนือความคาดหวัง สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย รวมทั้งดูแลเอาใจใส่ในทุกความต้องการของลูกค้า
- ระบบติดตามสถานะการดำเนินงาน (Progress Tracking)
ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อส่งมอบบริการที่มีคุณภาพ มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดี รวดเร็วและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบติดตามสถานะการดำเนินงาน (Progress Tracking)
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าให้สามารถตรวจสอบสถานะในขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งงานด้านรับประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย และงานสินไหมทดแทน เช่น ตรวจสอบสถานะผลการตรวจสภาพรถยนต์ ขั้นตอนการจัดส่งกรมธรรม์ประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย
รวมไปถึงการตรวจสอบสถานะการเคลมสินไหมทดแทนว่าอยู่ในขั้นตอนใด เช่น การรับเอกสารการเคลม การตรวจสอบเอกสารการเคลม การประเมินราคา การจัดซ่อม การส่งมอบรถ การอนุมัติค่าสินไหมทดแทน และการโอนค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะด้านสินไหมทดแทนยานยนต์ (Motor Claims) ได้โดยผ่านช่องทาง LINE @bangkokinsurance และลำดับถัดไปจะขยายช่องทางการให้บริการผ่าน Mobile Application
และเพิ่มเติมบริการให้ครอบคลุมงานด้านรับประกันภัย งานสินไหมทดแทนทั่วไป (Non-Motor Claims) และทางด้านการเงิน ทั้งนี้ สำหรับตัวแทนและนายหน้าซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัทฯ สามารถตรวจสอบสถานะดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทาง Web Partner
เพิ่มศักยภาพเทคโนโลยี ก้าวทันโลกดิจิทัล
กรุงเทพประกันภัย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการที่ก้าวทันกับความต้องการตามเทรนด์ของลูกค้ายุคใหม่
- AI Outbound Voice Chatbot
จากความใส่ใจและคำนึงถึงลูกค้าในทุกๆ ด้าน นำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
มาใช้ในการแจ้งเตือนการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้าทางโทรศัพท์ โดยระบบดังกล่าวจะสื่อสารกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงเสมือนจริง ที่มากับความพร้อมในการตอบคำถามและให้ข้อมูล เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยของลูกค้า รวมถึงช่องทางการชำระเงินหรือเรื่องอื่นๆ
ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในเรื่องดังกล่าว นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการต่ออายุเพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งเสริมให้บริษัทเพิ่มศักยภาพในการทำงานจากการ
ที่ AI สามารถจัดสรรงานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลลูกค้าที่ต้องการรับบริการด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
- Cognitive Customer Portal
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและฉับไว พร้อมสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า บริษัทจึงได้นำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างตรงใจมากยิ่งขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากการติดต่อของลูกค้าในช่องทางต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ
โดยจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและประมวลผลออกมาเป็นประเภทหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น การติดตามงานด้านรับประกันภัย งานด้านสินไหมทดแทน การชำระเงิน ข้อเสนอแนะเชิงบวกและเชิงลบ ตลอดจนข้อร้องเรียนต่างๆ
ซึ่งระบบ Cognitive Customer Portal จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านพฤติกรรมและประสบการณ์การใช้งาน
นอกจากนี้ยังสามารถเรียกดูข้อมูลเชิงสถิติในรูปแบบ Dashboard เพื่อการติดตามผล สรุปปัญหาต่างๆ ที่ต้องนำมาปรับปรุง พัฒนา และแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าต่อไป
ธุรกิจประกันภัยที่ร่วมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัทพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมควบคู่กับการสร้างการเติบโตด้วยผลการดำเนินงานที่ดี เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นที่สุดในใจลูกค้า” ด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า
โดยยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ของบริษัทให้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องและเกื้อหนุนกัน
อาทิ งานด้านการรับประกันภัยและงานด้านสินไหมทดแทนที่มีส่วนในการส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การออกกรมธรรม์ประกันภัยบ้านอยู่อาศัย Green Guarantee การเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลแทนการรับของสมนาคุณ
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันภัยสุขภาพที่หักค่าเบี้ยประกันภัยส่วนหนึ่งให้แก่องค์กรการกุศล รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจรายย่อยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
ผ่านการขยายระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัยของลูกค้า SMEs จากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการดำเนินธุรกิจต่างๆ ภายในบริษัทให้มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
08 เมษายน 2567
ผู้ชม 106 ครั้ง