สถิติ

66847131

เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น "วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง" ตัวจริง  

   เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น "วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง" ตัวจริง

   แจง3กลุ่มผู้ถือหุ้น-ย้ำ!เอกภาพบริหารงาน-แจงคดีหมดเปลือก

  

   “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” เปิดหมดเปลือกโครงสร้างผู้ถือหุ้น เผย 3 กลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ที่พาดพิงบริษัทเริ่มนิ่งหมดแล้ว

   ชี้ตราสารการโอนหุ้นทุกฉบับชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น สถานะโครงสร้างผู้ถือหุ้นมั่นคง ส่งผลทิศทางการบริหารงานมีเอกภาพ

   นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เปิดเผยว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้น WEH ในปัจจุบันแข็งแกร่ง ต่อเนื่อง ทิศทางการบริหารงานจึงเป็นเอกภาพ

   กรรมการบริษัททุกท่าน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาต่อเนื่อง ส่วนข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ที่พาดพิงบริษัทได้รับการตัดสินจากศาลหรือมีข้อสรุปทางคดีทั้งหมดแล้ว 

   โดยตราสารการโอนหุ้น ตลอด 15 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกฉบับ จากการประเมินของฝ่ายกฎหมาย ไม่พบปัจจัยใด ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นไปอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจุบัน

   สำหรับหุ้น WEH ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2552 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สัดส่วน 59.46% เดิมถือครองโดยบริษัท REC ของกลุ่มนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เปลี่ยนมือมาเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET ในปี 2558 และเปลี่ยนมือมายัง นายเกษม ณรงค์เดช ในปี 2559

   และปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค.2567) ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) สัดส่วน 37.87% นายประเดช กิตติอิสรานนท์ สัดส่วน 11.81% กลุ่มอดีตผู้บริหารของบริษัทสัดส่วน 3.75% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 36 ราย รวมเป็นสัดส่วน 6.03%

   ส่วนหุ้นกลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% เดิมถือครองโดยกลุ่มกิตติอิสรานนท์ มีการเปลี่ยนมือกันตามปกติ ไม่มีข้อพิพาทใดๆ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค.2567) ถือครองโดยบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด สัดส่วน 26.65%

   บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 7.12% บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 3.87% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 91 ราย ถือหุ้นรวมเป็นสัดส่วน 2.90%

  

เปิด 3 กลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างบุคคลภายนอก ทุกเหตุการณ์นิ่งแล้ว

   นายณัฏฐ์ธฤต อยู่ดี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย WEH กล่าวว่า ยอมรับว่าข้อพิพาทของบุคคลภายนอก ที่พาดพิงถึงบริษัทอยู่บ่อยครั้ง เป็นข่าวใหญ่มาตลอด

   เพราะเป็นเรื่องของบุคคลผู้มีชื่อเสียง แต่เป็นประเด็นพาดพิงเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ 1 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และไม่เกี่ยวข้องการดำเนินการหรือมีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ

   ทั้งนี้ฝ่ายกฎหมาย ได้ติดตามกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทของบุคคลภายนอกที่พาดพิงบริษัททั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มเหตุการณ์ และประเมินผลกระทบเป็นระยะ

   ขณะนี้ภาพรวมทุกกลุ่มเหตุการณ์นิ่งหมดแล้ว และไม่มีผลกระทบกับบริษัท มีเพียงคำสั่งศาลให้ปฏิบัติตามในฐานะนายทะเบียนบ้างเท่านั้น โดยมีรายละเอียดกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ต่อหุ้นกลุ่มที่ 1 ดังนี้

   กลุ่มเหตุการณ์ที่ 1 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก เรื่องการชำระเงินซื้อขายบริษัท REC โดยระหว่างปี 2558 - 2560 กลุ่มนายนพพรได้ขายบริษัท REC (ถือครองหุ้น WEH 59.46%) ให้กับกลุ่มนายณพ ณรงค์เดช

   และเปลี่ยนชื่อจาก REC เป็น KPNET แต่เกิดข้อพิพาทการชำระเงินซื้อขาย REC นำไปสู่คดีความระหว่าง 2 ฝ่าย ในฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ และไทย

   ในปี 2559 ที่อยู่ระหว่างข้อพิพาทการชำระเงิน REC บริษัท KPNET ได้โอนหุ้น WEH ทั้งหมด ไปยังผู้รับโอนในชื่อนายเกษม ณรงค์เดช และจากนายเกษม มีการโอนหุ้นออกไปยังผู้รับโอนอื่นๆ อีกหลายทอด

   เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มนายนพพรฟ้องร้องเป็นคดีสมคบคิดต่อศาลอังกฤษ และฟ้องร้องคดีโกงเจ้าหนี้ต่อศาลไทย สถานะปัจจุบัน ทั้ง 2 คดี ได้รับการตัดสินแล้ว

   โดยศาลอังกฤษตัดสินให้นายนพพรได้รับชำระเงินค่าเสียหายรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนศาลไทยตัดสินยกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ทั้ง 2 คดีดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทเพราะไม่มีความเกี่ยวข้อง

   กลุ่มเหตุการณ์ที่ 2 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก คดีแพ่งและคดีอาญา ที่นายเกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ในคดีแพ่ง และโจทก์ร่วมในคดีอาญา ฟ้องบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ

   โดยกลุ่มเหตุการณ์นี้ เกิดช่วงปี 2561 หลังจากนายเกษม ตกเป็นจำเลยร่วมในคดีสมคบคิดในศาลอังกฤษ และคดีโกงเจ้าหนี้ในศาลไทย เพราะมีชื่อเป็นผู้รับโอนหุ้นมาจาก KPNET

   ต่อมาในปี 2562 นายเกษมได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง พ.1031/2562 เรียกทรัพย์คืน โดยมีหุ้น WEH เป็น 1 ในรายการตามคำขอ สถานะปัจจุบันคดีสิ้นสุด เพราะโจทก์ถอนฟ้อง

   คดีแพ่งที่ยังมีผลอยู่ปัจจุบัน คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.978/2565 ที่นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องเรียกหุ้น WEH คืนจาก GML จำนวน 31 ล้านหุ้น จากทั้งหมดที่ GML ถือครอง 41 ล้านหุ้น (GML ถือครองหุ้น WEH ในสัดส่วน 37.87% )

   สถานะปัจจุบันศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน และให้อายัดเงินปันผลหุ้น WEH ที่ GML ถือครองอยู่ 37.87%ทั้งหมด โดยศาลสั่งให้บริษัท

   นำเงินปันผลทั้งหมดของ GML ไปวางไว้ที่ศาลตามคำสั่งคุ้มครองจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันบริษัทนำเงินปันผลส่วนนี้ไปวางไว้ที่ศาลแล้วรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท

   คดีสุดท้ายของกลุ่มนี้ คือ คดีอาญา ที่อัยการและนายเกษม เป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 (หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566) โดยยื่นฟ้องในปี 2564

   สถานะปัจจุบันศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่มีคำพิพากษาว่าลายเซ็นนายเกษมในเอกสาร 5 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม จึงมีคำสั่งให้ริบเอกสารทั้ง 5 รายการ

   โดยมีเอกสารรายการเดียวเท่านั้น ที่กล่าวถึงบริษัท คือ สัญญาซื้อขายหุ้น WEH  ระหว่างนายเกษม กับ KPNET เป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารคนละฉบับกับตราสารการโอนหุ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่างนายเกษม กับ KPNET จึงมีผลสมบูรณ์ด้วยกฎหมาย

   กลุ่มเหตุการณ์ที่ 3 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ที่ KPNET อาศัยคำพิพากษาคดีอาญาปลอมแปลงเอกสาร หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566 เพื่ออ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH

สำหรับ KPNET สถานะปัจจุบันเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท เพราะไม่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และในบอจ.5 แต่หลังคำตัดสินคดีอาญาปลอมเอกสาร KPNET ได้อาศัยคำพิพากษาคดีดังกล่าว

   อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH และไปจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น WEH เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการคัดค้านต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

   สถานะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 ก.พ.2567 โดยระบุชัดเจนว่า KPNET ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น WEH เพราะคำพิพากษาคดีอาญา วินิจฉัยเฉพาะสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นเอกสารปลอม

   ซึ่งเป็นเอกสารคนละชนิดกับตราสารการโอนหุ้น เป็นนิติกรรมคนละประเภท การอ้างว่าสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะ ทำให้ตราสารการโอนเป็นโมฆะและเสียเปล่า จึงไม่อาจรับฟังได้

   นายณัฏฐ์ธฤต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหุ้น WEH กลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% ที่ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ถือครองในสัดส่วน 7.12% ได้มาจากการซื้อขายชำระเงินโดยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) จากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใดๆ การทำธุรกรรมสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย

   บริษัทจึงไม่มีความหนักใจใดๆ ในคดีที่ NUSA ยื่นต่อศาลขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมด เพราะ NUSA ไปอ้างคำตัดสินคดีอาญา(คดีปลอมเอกสาร) ของหุ้นกลุ่มที่ 1 ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานทั้งหมดมีความชัดเจนในตัวเอง พร้อมนำเสนอต่อศาลอยู่แล้ว

25 มีนาคม 2567

ผู้ชม 51 ครั้ง

Engine by shopup.com