สถิติ

70489471

วิริยะประกันภัย เดินเกมยุทธ์ปี67 ปั๊มเบี้ยรวม 43,000 ล้านบาท

หมวดหมู่: ประกันภัย

   วิริยะประกันภัย เดินเกมยุทธ์ปี67 ปั๊มเบี้ยรวม 43,000 ล้านบาท

   ชู!ผลตอบแทน4.4%กวาดกำไร3,000ลบ.-ชง!Green Insurance      

 

   วิริยะประกันภัย มุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมประกาศแผนงานปี 67 วางทิศทางดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”

   ตอกย้ำความเชื่อมั่นด้วยประสบการณ์ด้านประกันวินาศภัยกว่า 77 ปี “มั่นคง” ด้วยสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง 68,335 ล้านบาท “เป็นธรรม” ทุกขั้นตอนของการบริการ และมอบประสบการณ์ความ “คุ้มค่า” ให้แก่ลูกค้า

   ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยฐานข้อมูล Big Data ที่ลงลึกตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

   ส่วนผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท กวาดกำไร 3,000 ล้านบาท ในขณะที่เป้าหมายปี 67 ตั้งเป้าไว้ที่ 43,000 ล้านบาท และกำไรมากกว่า 3,000 ล้านบาท

   นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการต่างๆ

   โดยยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”

   โดยตลอดระยะเวลา 77 ปี ของการดำเนินงานบริษัทยังคงยืนหยัดเคียงข้างดูแลเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัยให้กับประชาชนในสังคม

   พร้อมตอกย้ำความมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 68,335 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 180% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

   “ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกันกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่วิริยะประกันภัย ยังครองส่วนแบ่งตลาด เป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22%

   สำหรับผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,633 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,444 ล้านบาท โดยมีกำไรกว่า 3,000 ล้านบาท จากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้เฉลี่ย 4.4%

   โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 38,000 ล้านบาท เติบโต 6% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 5,000 ล้านบาท เติบโต 11% และกำไรมากกว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึง CAR มากกว่า 200%” นายอมร กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   นอกจากนี้บริษัทยังคงยึดมั่นนโยบาย “ความเป็นธรรม คือ นโยบาย” ซึ่งความเป็นธรรมนี้ยังถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกไปถึงบุคลากรของบริษัทฯ จากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง

   ซึ่งปัจจุบันวิริยะประกันภัยมีพนักงานกว่า 6,700 คน ทั่วประเทศ ทั้งบุคลากรงานส่วนหลังและบุคลากรส่วนหน้าที่คอยให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นพนักงานเคลมกว่า 2,000 คน

   โดยบริษัทให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการประกันภัย

   เพื่อผู้เอาประกันภัยได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม และเกิดความพึงพอใจอย่างสูงสุดทั้งในเรื่องของคุณภาพบริการ และการดำเนินการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน

   ในช่วงที่ประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น บริษัทยังคงยืนหยัดดูแลผู้เอาประกันภัยโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ประกอบกับวิริยะประกันภัย มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุนเพียงพอ

   จึงสามารถดูแลเคียงข้างผู้เอาประกันภัย และจ่ายสินไหมทดแทนจนถึงกรมธรรม์ฉบับสุดท้ายในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการจ่ายสินไหมทดแทนไปกว่า 30,000 ล้านบาท

                                     

   นายอมร กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 นี้ บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อความพึงพอใจของลูกค้าที่ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจในวิริยะประกันภัย ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ที่ “คุ้มค่า” ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมบริการประกันภัย

   ซึ่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการนำบริการ “VClaim on VCall” หรือ การเคลมนัดหมายออนไลน์ผ่านวิดีโอคอล มาให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันบริการนี้ได้ขยายออกไปครอบคลุมทุกทิศทั่วไทยแล้ว เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า

   ทำให้บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทยังได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการใหม่ “V-Inspection เป็นบริการที่นำ AI เข้ามาช่วยในการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการรับประกันภัย ให้ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ

   ส่วนในด้านของผลิตภัณฑ์ประกันภัย บริษัทได้ใช้ Big Data พัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม Personalization and Customer Insights หรือการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคน จากฐานลูกค้าที่ถือกรมธรรม์กว่า 8 ล้านราย

   พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด อาทิ V-Motor ขับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น, Type 1 Good Drive ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก 2+Good Drive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิด Carrier,

   ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities โดยการนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่, Viriyah Privileges เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก

   ส่วนการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV นั้น แม้เบี้ยประกันภัยจะมีอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปกว่า 10-15% แต่ วิริยะประกันภัย ก็มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยดังกล่าว

   โดยในปี 2565 รับประกันภัยจำนวน 5,000 คัน แต่ในปี 2566 ก็เติบโตก้าวกระโดด 200% มาอยู่ที่ 18,000 คัน ด้วยเบี้ยประกันภัยกว่า 400 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา 

   “วิริยะประกันภัยมุ่งหวังที่จะมอบประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้แก่ลูกค้า จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกสู่ตลาดมากกว่า 60 ผลิตภัณฑ์

   โดยมีการนำข้อมูล Big Data อันมาจากการได้ดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ลงลึกถึงความต้องการและความเสี่ยง

   ทำให้สามารถนำมาประเมินผลเพื่อกำหนดความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า รวมถึงกำหนดเบี้ยประกันภัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าและพึงพอใจอย่างสูงสุด

   อีกทั้งบริษัทยังมุ่งสร้างประสบการณ์อันคุ้มค่าผ่านตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยที่มีอยู่เกือบ 6,000 คนทั่วประเทศ ที่พร้อมเข้าไปดูแลลูกค้าในพื้นที่ละแวกใกล้กับสำนักงานตัวแทน

   และที่สำคัญสำนักงานมาตรฐานตัวแทนของวิริยะประกันภัย ยังถูกยกระดับการบริการให้สามารถดำเนินการออกกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าได้โดยตรงเทียบเท่ากับสาขาของวิริยะประกันภัย” นายอมรฯ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   ประสบการณ์ความคุ้มค่าเหล่านี้ คือสิ่งที่วิริยะประกันภัยตั้งใจมอบให้แก่ลูกค้าที่มอบความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในบริษัท ทั้งลูกค้าใหม่ รวมถึงลูกค้าเก่าที่ยังคงมีการต่ออายุกรมธรรม์อย่างต่อเนื่อง

   ทั้งนี้ วิริยะประกันภัย ยังได้เตรียมเปิดตัวแคมเปญบริษัท ภายใต้แนวคิด “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” พร้อมสื่อสารไปยังสาธารณชนผ่านหนังโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของวิริยะประกันภัยอีกด้วย 

                                           

   ส่วนทางด้านประกันภัยรถยนต์ (Motor) นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานบริการสินไหมที่ดี มีคุณภาพ เป็นธรรม” คือ เป้าหมายร่วมกันของวิริยะประกันภัย ที่ยึดถือและปฏิบัติร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 77 ปี

   นำมาซึ่งชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากลูกค้า จนทำให้วิริยะประกันภัยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดประกันภัยรถยนต์และประกันวินาศภัยโดยรวมเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง

   ทุกๆ วันโจทย์ในการทำงานของวิริยะประกันภัย คือ ลูกค้าต้องได้รับบริการประกันภัยที่ดีที่สุด สินค้าของวิริยะประกันภัย คือ “บริการ” เราต้องทำให้ลูกค้าที่เลือกมอบความไว้วางใจกับวิริยะประกันภัย

   มั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งทุกกระบวนงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอด ในทุกๆ ส่วนงาน ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

   ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนางานบริการด้านสินไหมทดแทนและงานรับประกันภัยที่สำคัญในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านระบบงาน มีการพัฒนา ทบทวน ปรับปรุง Redesign

   ระบบงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสินไหมทดแทนและรับประกันภัย ให้กระชับ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ลดทอนงานเอกสาร ระยะเวลา และความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการทำงานต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น

   ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด บริษัทจึงมีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพในระดับที่เข้มข้น ทั้งการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะ เติมเต็มองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง 

   โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการให้บริการลูกค้า เพื่อให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นมืออาชีพอย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าที่ต้องให้บริการลูกค้าโดยตรง และส่วนหลังที่สนับสนุนการปฏิบัติการหรือดำเนินงานต่างๆ 

   ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงได้จัดอบรมความรู้หลักสูตรเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

   ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย รวมไปถึงบริษัทคู่ค้า ตัวแทนประกันวินาศภัย และศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพอีกด้วย  

   ส่วนในด้านการบริหารจัดการข้อมูล ด้วยบริษัทมีข้อมูลในการรับประกันภัยและข้อมูลด้านสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า จึงได้ทบทวน ออกแบบ ปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านกระบวนการ Data Analytics

   อันนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และการบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าโดยตรง ทั้งงานรับประกันภัย งานต่ออายุกรมธรรม์ และงานสินไหมทดแทน

   พร้อมกันนี้บริษัทยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในส่วนของระบบงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเชื่อมโยงงานรับประกันภัยและงานบริการด้านสินไหมทดแทนเข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแบบไร้รอยต่ออีกด้วย

   นายสยม กล่าวต่อไปว่า นับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจประกันภัย และวิริยะประกันภัย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการลูกค้า ซึ่งต้องผสมผสานการทำงานร่วมกันกับคน

   เนื่องจาก Human Touch เป็นเรื่องสำคัญและเปราะบางมากสำหรับธุรกิจประกันภัย ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใดการนำมาใช้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความพอดี

   สำหรับงานบริการประกันภัยส่วนหน้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์คับขัน เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง คือ ได้รับการดูแลที่ดีจากพนักงานวิริยะประกันภัย 

   ในเรื่องนี้บริษัทก็ต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง นับตั้งแต่ขั้นตอนการรับแจ้งเคลมจากลูกค้าผ่าน Contact Center หรือ Application การให้บริการลูกค้า ณ จุดเกิดเหตุ

   และการดูแลลูกค้า ณ จุดบริการต่างๆ (Touch Point) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและการยอมรับด้านการบริการให้วิริยะประกันภัยมาโดยตลอด 

   ทั้งนี้ในส่วนของงานบริการสินไหมทดแทน ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายการบริการแจ้งเคลมผ่านวิดีโอคอล “VClaim on VCall” ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ซึ่งบริการนี้ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

   อีกทั้งบริษัทยังนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน วิเคราะห์ และสรุปความเสียหายด้านสินไหมทดแทน ทำให้คู่ค้าบริษัทได้รับการอนุมัติงานซ่อมและค่าซ่อมที่รวดเร็ว และลูกค้าได้รับรถยนต์กลับไปใช้งานตามปกติได้เร็วขึ้น

   นอกจากนี้บริษัทได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการทำประกันภัยกับบริษัท โดยมีการพัฒนานวัตกรรมบริการ “V-Inspection”

   ซึ่งเป็นบริการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัยผ่านมือถือ ซึ่งช่วยลดระยะเวลา และการเดินทางเพื่อตรวจสภาพรถยนต์ ทำให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติทำประกันภัยที่รวดเร็วขึ้น

   นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมระบบข้อมูลการรับประกันภัยด้วย API (Application Programing Interface) ทำให้บริษัทสามารถเชื่อมต่อข้อมูลการประกันภัยกับระบบการขายของคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจุบัน ลูกค้าจะได้รับทราบเบี้ยประกันภัย ทุนประกัน และความคุ้มครองอย่างทันท่วงที

   เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำประกันภัย และชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการใช้ RPA (Robotic Process Automation) เพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการนำเข้าข้อมูลเพื่อพิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์

   “บริษัทยังมองถึงโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และในอนาคต ทั้งในเรื่องของเทรนด์การดูแลสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับบริษัทในการขยายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิตสมัยใหม่ 

   เช่น ประกันคุ้มครองเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า ประกันรถยนต์ตามระยะทางที่ขับจริง ประกันไซเบอร์ ฯลฯ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

   ตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้า และลูกค้าได้มากขึ้น ความท้าทายในเรื่องของ Claim Inflation การบริหารจัดการต้นทุนสินไหมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเรื่องของ Cost Technology ในการดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

   เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการความคาดหวังของลูกค้า ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายสำคัญที่บริษัทต้องบริหารจัดการอย่างพิถีพิถันด้วยเช่นกัน” นายสยม กล่าวย้ำ

                                            

   ส่วนทางด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งเน้นดูแลและพัฒนาการให้บริการลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีเหนือความคาดหวังของลูกค้าทุกท่าน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นธรรม ทั้งยังสอดรับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่มั่นคง โปร่งใส จริงใจ และเป็นธรรม

   ทั้งนี้บริษัทได้มีการวางแผนขยายประกันภัย Non-Motor ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 11% โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับประกันความเสี่ยงภัยรายย่อยด้านส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยบ้าน และประกันภัยความรับผิด

   สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของประกันสุขภาพส่วนบุคคล เป็นไปในทิศทางเชิงบวก 11.48% สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดที่คนไทยตระหนักถึงประโยชน์ของประกันสุขภาพมากขึ้น และในส่วนของการเติบโตภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

   บริษัทได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในขณะเดินทาง

   และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ยังคงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและแนวโน้มที่สดใส ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทมี Network ที่ครอบคลุม และความพร้อมด้านบริการ

   นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าวต่อถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพเฉพาะโรค และประกันภัยโรคร้ายแรง

   เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคุ้มครอง และบริการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (Good Health and Wellbeing)

   นอกจากนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประกันภัย Carrier Liability Insurance, Cyber Security Insurance และ Professional Liability Insurance ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละประเภทธุรกิจ

   “บริษัทยังมีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities ออกมาในรูปแบบ Green Insurance ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

   บริษัทจึงนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่ อาทิ ให้ความคุ้มครองการทดแทนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly ในการประกันอัคคีภัย

   นอกจากนี้จะสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนลดเบี้ยประกันพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly มากขึ้น ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่เชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาของสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้” นางฐวิกาญจน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   ในส่วนของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทฯ มี Roadmap ในการพัฒนาระบบ New Core System โดยมีการเริ่มใช้งานระบบ New Core Phase 1 ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทาง เมื่อช่วงธันวาคม 2566

   และ Phase ต่อไปในปี 2567 จะเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัยและสินไหมรองรับการเติบโตของบริษัท

   นอกเหนือจากความคุ้มครองที่วิริยะประกันภัยดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง วิริยะประกันภัย ได้ยกระดับการดูแลลูกค้าดั่งแคมเปญบริษัทนปี 2567 ที่ว่า “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”

   ผ่านโครงการ Viriyah Privileges ด้วยการมอบหลากหลายสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีตลอดระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของวิริยะประกันภัยตามเงื่อนไขของโครงการ

   โดยร่วมกับพันธมิตรแบรนด์ดังมากมาย และโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัย ในการส่งมอบบริการและประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

14 มีนาคม 2567

ผู้ชม 463 ครั้ง

Engine by shopup.com