สถิติ

70508529

SCB CIO มอง3ปัจจัยหลักหนุนตลาดหุ้นเวียดนามฟื้นตัวต่อเนื่อง  

หมวดหมู่: การเงิน

   SCB CIO มอง3ปัจจัยหลักหนุนตลาดหุ้นเวียดนามฟื้นตัวต่อเนื่อง

   แนะทยอยลงทุนValuationยังต่ำ-โอกาสยกระดับเข้าตลาดเกิดใหม่

                                           

   SCB CIO มองเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้เดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การฟื้นตัวจากภาคส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

   และการบริโภคภายในประเทศ พร้อมมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังช่วยหนุนเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต รัฐบาลตั้งเป้าปีนี้ GDP โต 6.0-6.5%  

   SCB CIO ได้ปรับมุมมองตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Neutral สู่ Slightly Positive แนะทยอยสะสม คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีโอกาสถูกยกระดับเป็นตลาดเกิดใหม่ 

   การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ให้จัดอยู่ใน Opportunistic Portfolio เป็นพอร์ตส่วนเพิ่มเติมที่ลงทุนตามสถานการณ์ เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามมีความผันผวนสูง จึงแนะนำลงทุนในสัดส่วนตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

   ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า ในปี  2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวด้วยแรงหนุนจากภาคส่งออก และ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ดีต่อเนื่อง

   โดยรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมาย GDP ขยายตัว 6.0%-6.5% และเป้าหมายอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.0%-4.5% ซึ่ง SCB CIO มองว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จาก 3 ปัจจัย ได้แก่

   1) การฟื้นตัวของภาคการส่งออก 2) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ทางการเวียดนามมีแนวโน้มออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทต่างๆ หลังการบังคับใช้ Global Minimum Tax (GMT) หรืออัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับรายได้นิติบุคคล ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มคลายความกังวล

   และ 3) การบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมี มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง เป็นแรงสนับสนุนสำคัญส่งเสริมเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย

   สำหรับภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพียงแต่ยังมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อยู่ โดยภายหลังภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการผ่อนผันการนัดชำระหนี้หุ้นกู้ภาคอสังหาฯ ออกไป 2 ปี

   ทำให้มองว่า กิจกรรมบนภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ สภานิติบัญญัติเวียดนาม ผ่านร่างกฎหมาย Land law เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2568

   โดยจะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถตกลงราคาซื้อขายที่ดินกับเจ้าของที่ดินได้โดยตรง ไม่ต้องให้ทางการเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทน ช่วยหนุนให้บรรยากาศภาคอสังหาฯ เวียดนาม มีพัฒนาการที่ดีในระยะต่อไป 

   ในส่วนของกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจที่กลับสู่ขาขึ้น โดยธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ตั้งเป้าหมายสินเชื่อปีนี้เติบโต 15% แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ในระดับสูง

   แต่การก่อตัวของ stage 2 loan (สินเชื่อที่แสดงสัญญาณเบื้องต้นของความอ่อนแอในการชำระหนี้ แต่ยังไม่ถือว่าเป็น NPL) มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่งผลให้การตั้งสำรองระยะต่อไปมีแนวโน้มลดลง และช่วยหนุนผลประกอบการธนาคารระยะต่อไป

   ดร.กำพล กล่าวต่อไปว่า SCB CIO ได้ปรับมุมมองตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Neutral สู่ Slightly Positive เนื่องจากแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว FDI ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

   ภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งรัฐบาลผ่านร่างกฎหมาย Land law เอื้ออำนวยให้สภาพคล่องกลุ่มอสังหาฯ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนธุรกิจธนาคารมีแนวโน้มได้รับอานิงสงส์จากเศรษฐกิจที่กลับสู่ขาขึ้น

   ขณะที่ Valuation ตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมี Price to earning multiple (P/E) หรือราคาต่อกำไรต่อหุ้น ซื้อขายอยู่ที่ 10.1x ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ประมาณ -1 s.d.  

   นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีโอกาสถูกยกระดับเป็นตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มถูกดึงเข้าไปคำนวณบนดัชนี FTSE โดยหากสามารถยกเลิกระบบ pre-funding ที่บังคับให้นักลงทุนต่างชาติมีเงินสด 100% ของมูลค่าการซื้อขายในพอร์ท 1 วันก่อนการทำธุรกรรมสำเร็จ จะเพิ่มโอกาสในการถูกดึงเข้าไปคำนวณบน ดัชนี FTSE Emerging Market ได้ภายในปี 2567 ด้วย

   ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามผ่านกองทุนที่มีกลยุทธ์ Bottom-Up และรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตภายใต้เงื่อนไขตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น frontier market (ตลาดหุ้นชายขอบ หรือตลาดหุ้นของประเทศที่เพิ่งจะพัฒนา) ที่มีความผันผวนได้สูง

   โดยการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามควรจัดอยู่ในการลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตส่วนเพิ่มเติมและเป็นการลงทุนตามสถานการณ์ โดย Opportunistic Portfolio คิดเป็น 20%-40% ของพอร์ตทั้งหมด 

   เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมีความผันผวนสูง เราจึงแนะนำลงทุนในสัดส่วนตามระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ในกรณีที่เกิดผลลบไม่เป็นไปตามคาดหวังก็จะไม่ส่งผลกระทบมาก ต่อ Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนแกนกลาง สำหรับการลงทุนระยะยาว

19 กุมภาพันธ์ 2567

ผู้ชม 96 ครั้ง

Engine by shopup.com