SJWD ปิด 2 ดีลรับปีมังกร เข้าลงทุนใน"SWIFT"รุกโลจิสติกส์มาเลเซีย
SJWD ปิด 2 ดีลรับปีมังกร เข้าลงทุนใน"SWIFT"รุกโลจิสติกส์มาเลเซีย
SJWD ปิด 2 ดีลรับปีมังกร เข้าลงทุนใน"SWIFT"รุกโลจิสติกส์มาเลเซีย
ถือหุ้นเพิ่ม"ANI"ขนส่งสินค้าทางอากาศ-สู่มาร์เก็ตแคป100,000ลบ.ปี70
บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือ SJWD ลงทุนรวมกว่า 2,470 ล้านบาท ปิด 2 ดีลขยายฐานธุรกิจโลจิสติกส์ เข้าซื้อหุ้น Swift Haulage Berhad ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ในมาเลเซีย 20.44% เพิ่มศักยภาพให้บริการขนส่งสินค้าในมาเลเซียและขนส่งข้ามแดน
เตรียมต่อยอดผสานความร่วมมือขยายธุรกิจ พร้อมปิดดีลเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 20.12% ใน บมจ.เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ANI ผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ใน 3 ของเอเชียในธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าแก่สายการบิน
เพื่อขยายพอร์ตธุรกิจ เพิ่มศักยภาพบริหารต้นทุนและขยายการให้บริการแก่ลูกค้า คาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง 2 บริษัทในปีนี้รวม 240 ล้านบาท
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการลงทุน 2 โครงการ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการเข้าลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในมาเลเซียและขยายฐานธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight)
เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรในระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตลอดจนผสานความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์นำความเชี่ยวชาญร่วมมือขยายธุรกิจ
การลงทุนทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ได้แก่ (1) การเข้าซื้อหุ้น 20.44% ในบริษัท Swift Haulage Berhad หรือ SWIFT (สวิฟท์) ซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย โดย SWIFT ดำเนินธุรกิจโลจิสติกต์มากว่า 10 ปี
มีความเชี่ยวชาญการขนส่งทางรถ เช่น การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าในประเทศ ขนส่งสินค้าข้ามแดน ขนส่งสินค้า-เคมีภัณฑ์และสินค้าอันตราย เป็นต้น มีการขยายธุรกิจคลังสินค้า รวมถึงเป็นตัวแทนผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า (Frieght Forwarder)
โดยมีรายได้ในปี 2565 ประมาณ 4,825 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 369 ล้านบาท และ (2) เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI จาก 8% เป็นประมาณ 20.12%
ซึ่ง ANI เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ใน 3 ของเอเชียในธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าแก่สายการบินต่าง ๆ (General Sales Agent หรือ GSA) กว่า 20 สายการบิน ครอบคลุมเส้นทาง 8 ประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น
โดย ANI มีรายได้ในปี 2565 ที่ 6,029 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,093 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
บริษัทจะใช้งบลงทุนสำหรับ 2 โครงการ รวมประมาณ 2,470 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน SWIFT ประมาณ 850 ล้านบาท และ ANI อีกประมาณ 1,620 ล้านบาท
ซึ่งจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจ เงินกู้ยืมและการเสนอขายหุ้นกู้ คาดว่าบริษัทจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง 2 บริษัทในไตรมาสแรกปี 2567 เป็นต้นไป รวมประมาณ 240 ล้านบาทในปีนี้
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า การเข้าถือหุ้นใน SWIFT เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการขยายฐานธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการเพิ่มเครือข่ายการให้บริการในมาเลเซียรวมถึงสิงคโปร์
ทำให้ SJWD มีเครือข่ายการให้บริการครบทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงจีนตอนใต้ โดยจะผสานความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากประเทศจีน มายังไทย มาเลเซียและสิงคโปร์
เพิ่มรายได้จากการขยายสินค้าที่ให้บริการขนส่งข้ามแดน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค, อาหารแช่แข็ง, ยางพารา ฯลฯ สนับสนุนการให้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ในประเทศไทยแก่ SWIFT
ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจในประเทศมาเลเซียที่มีศักยภาพเติบโต
เช่น คลังสินค้าห้องเย็น, คลังสินค้าอันตราย, บริการรับฝากและบริหารยานยนต์ เป็นต้น โดยคาดว่าภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในมาเลเซียจะเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 8%
ส่วนการเพิ่มสัดส่วนลงทุนใน ANI จะทำให้บริษัทขยายพอร์ตธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการบริหารต้นทุน มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ
โดยบริษัทสามารถเพิ่มรายได้จากการขยายบริการดังกล่าวแก่ลูกค้าของบริษัทฯ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนามและจีน รวมถึงนำเสนอบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนต่างๆ ของบริษัทแก่ลูกค้าของ ANI
สอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจบริการตัวแทนขายระวางสินค้าแก่สายการบินต่างๆ (ข้อมูลจากการวิจัยโดย ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน) มีแนวโน้มแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% นับจากปี 2565-2570
เนื่องจากสายการบินต่างๆ มีแนวโน้มจัดหาบริษัทภายนอกเพื่อให้บริการดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของ ANI และการเพิ่มสัดส่วนลงทุนของบริษัทครั้งนี้
“บริษัทได้เดินหน้าแผนลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รวมกิจการแล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นผู้ให้บริการ
โลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ด้วยการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแคปเป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 และเพิ่มอัตรากำไรสุทธิเป็น 15%” นายชวนินทร์ กล่าวสรุป
06 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 74 ครั้ง