เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ผนึก บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง)
เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ผนึก บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง)
เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ผนึก บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง)
ลงทุนพัฒนา"เครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์"ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ESCO ในกลุ่มเอ็กโก ลงนามข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) บริษัทย่อยของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อร่วมลงทุนพัฒนาเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ ตอบโจทย์เทรนด์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขององค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
นายสุทธิศักดิ์ แก้วมีแสง กรรมการผู้จัดการ ESCO ในกลุ่มเอ็กโก กล่าวว่า ESCO เป็นบริษัทที่ EGCO Group ถือหุ้น 100% โดยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการให้บริการงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา (O&M) วิศวกรรม และการฝึกอบรมแก่โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ มากว่า 29 ปี
การลงนามข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อลงทุนเครื่องมือทดสอบตรวจวัดประสิทธิภาพแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ที่มีความยาวเกิน 2 เมตร นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนและต่อยอดธุรกิจการตรวจสอบประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์
โดย ESCO จะร่วมลงทุน และสนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เช่น อุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบหรือซอฟท์แวร์ รวมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานร่วมกัน ESCO เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
นายดอน ทยาทาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่–สายงานลูกค้าสัมพันธ์และปฏิบัติการโรงไฟฟ้า 2 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากจำนวนของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มขึ้นทั้งการใช้งานของโรงงานอุตสากรรม นิคมอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
เนื่องจากเป็นการตอบโจทย์การใช้พลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้อย่างเหมาะสม
รวมถึงยังเป็นการตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทาง บี.กริม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการใช้งานพลังงานทางเลือกอยู่เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมศักยภาพการใช้งานของแผงโซลาร์เซล์เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้านการใช้พลังงานทางเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันหากพิจารณาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเห็นได้ว่ามีความยาวมากกว่า 2 เมตร ซึ่งเกินกว่าที่เครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ที่ศูนย์ทดสอบ CES Solar Cells Testing Center (CSSC) จะสามารถรองรับได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือของพันธมิตรในโครงการนี้เพื่อร่วมลงทุนและพัฒนาเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์
ซึ่งถือเป็นเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์แห่งเดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยทาง บี.กริม พร้อมสนับสนุนการลงทุนและการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพื่อเสริมการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายโครงการ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ เตชะอภัยคุณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ. ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากผลงานด้านวิชาการและการผลิตนวัตกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มจธ. ได้จัดเตรียมคณาจารย์และนักศึกษาผู้มีประสบการณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยได้จัดเตรียมระบบการเดินเครื่องและการบำรุงรักษาเครื่องมืดทดสอบ ขั้นตอนในการตรวจสอบการใช้งานซึ่งได้รับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ ISO/IEC17025
ถือเป็นการใช้ความเชี่ยวชาญของทางสถาบันเพื่อพัฒนาการใช้งานพลังงานทางเลือกให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการสร้างประสบการณ์ในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานชั้นนำซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากรของ มจธ.ด้วยเช่นกัน
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากลงทุนในเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ทั้ง 3 องค์กรจะร่วมกันทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าสามารถใช้บริการและทำการทดสอบได้ที่ศูนย์ทดสอบ CSSC โดยเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์นี้จะถูกติดตั้งที่ศูนย์ทดสอบ CSSC
โดยมีผู้ปฏิบัติการของศูนย์ทดสอบ CSSC เป็นผู้ทำการทดสอบและบำรุงรักษา (ผู้ปฏิบัติการและห้องปฏิบัติการของศูนย์ทดสอบ CSSC ผ่านการรับรองระดับสากลแล้ว) โดยความร่วมมือทั้งหมดมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 10 ปี
ทั้งนี้จากรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีนโยบายลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว และหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions
โดยหนึ่งในพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง คือ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) เนื่องจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถทำได้ทั้งระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม
ส่งผลให้จำนวนผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีการพัฒนามากขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์จึงมีความสำคัญ
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่องค์กรและผู้ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในภาพรวมของประเทศมากยิ่งขึ้นในอนาคต
21 มกราคม 2567
ผู้ชม 161 ครั้ง