การีนา รับลูกนโยบายส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมเปิดตัว"กางเกงแมวโคราช"
การีนา รับลูกนโยบายส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมเปิดตัว"กางเกงแมวโคราช"
การีนา รับลูกนโยบายส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมเปิดตัว"กางเกงแมวโคราช"
แฟชั่นไอเทมเกม Free Fire ดัน!ไทยผงาดในเวทีโลกผ่านดิจิทัลคอนเทนต์
การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นธุรกิจดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ภายใต้กลุ่ม Sea (ประเทศไทย) ร่วมกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นำ “กางเกงแมวโคราช”
สินค้าเอสเอ็มอีไทยที่ต่อยอดมาจากการประกวดออกแบบลายโคราช โมโนแกรม (KORAT MONOGRAM) เข้าสู่โลกดิจิทัลคอนเทนต์ในฐานะแฟชั่นไอเทมใหม่ล่าสุดภายในเกม Free Fire เกมแบทเทิลรอยัลระดับโลกจากการีนา
ที่เข้าถึงผู้เล่นจำนวน 560 ล้านคนทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ โดยเปิดตัวกางเกงแมวภายในเกม Free Fire ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 และทยอยเปิดตัวในต่างประเทศภายในปี 2567
ในโอกาสนี้ เพื่อร่วมหาแนวทางใช้ดิจิทัลคอนเทนต์ส่งเสริมวัฒนธรรม สินค้าวัฒนธรรม และประเทศไทยในเวทีโลก นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
ได้ร่วมหารือกับ Sea (ประเทศไทย) และ การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) นำโดยนางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย)
ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) และนายกฤตย์ พัฒนเตชะ ผู้อำนวยการอาวุโสประจำประเทศไทย บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด
นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ท่านกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เกมคือซอฟต์พาวเวอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังสร้างสรรค์และจินตนาการของคนรุ่นใหม่ เกมจึงเป็นตัวกลางสำคัญที่จะผลักดันวัฒนธรรมร่วมสมัยอื่นๆ ของไทยไปสู่วิถีชีวิตของคนทั่วโลก
สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ได้นำกางเกงแมวโคราชเข้ามาเป็นแฟชั่นไอเท็มในเกม Free Fire เป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สู่สายตาชาวโลกที่เล่นเกม ซึ่งจัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำสินค้าทางวัฒนธรรมมาสู่วิถีชีวิตของคน
ซึ่งในการเติบโตของซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสหากรรมเกมจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีการบูรณาการตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนทั้ง Up Skill และ Reskill ผ่านการให้ความรู้ การจัดทำคอร์ส ออนไลน์
เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “กลางน้ำ” ที่จะเน้นขยายการเติบโต โดยทางเรามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนอีสปอร์ต และจบที่ “ปลายน้ำ” ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเกมเข้าถึงคนได้มากขึ้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า ในโลกสมัยใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยีมาผสานร่วมกับวัฒนธรรม อัตลักษณ์พื้นถิ่น และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่สินค้าวัฒนธรรม (Cultural Products) ผ่านดิจิทัลคอนเทนต์
จะเพิ่มคุณค่าการรับรู้ และสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ สู่เวทีโลก ให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง สำหรับ “กางเกงแมวสีสวาท”
เป็นการนำเอาอัตลักษณ์ของโคราชที่มีมายาวนานมาบูรณาการกับเกม เรามั่นใจว่าหากเราขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกม และสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้ด้วยเช่นกัน
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้น โดยสามารถเชื่อมโยงของดีของเมืองโคราชอย่างกางเกงแมวสีสวาท มาสื่อสารสู่คนทั่วโลกผ่านเกม Free Fire
ทำให้เห็นว่าการประยุกต์และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ่านดิจิทัลคอนเทนต์แสดงให้เห็นถึงศักยภาพคนไทย ตลอดจนคุณค่าและพลังของวัฒนธรรมไทยที่สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ และผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแท้จริง
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการนี้ที่การีนาได้ทำเป็นการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นผ่านเกม ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
อีกทั้งยังเป็นการผลักดันเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และยังสามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการเช่นนี้จะมีส่วนในการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่มากขึ้น
นายจิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กางเกงลายแมวโคราชมาจากโครงการของหอการค้าที่ทำการจัดประกวดออกแบบลาย KORAT MONOGRAM (โคราช โมโนแกรม) ที่เป็นสัญลักษณ์เมืองโคราช
มาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อสร้างการจดจำให้กับนักท่องเที่ยว การนำเอากางเกงแมวโคราช มาอยู่ในเกม Free Fire ในครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดให้อัตลักษณ์ของโคราช เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากคนในท้องถิ่น
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบัน เกมและอีสปอร์ตเป็นดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเกม Free Fire นับเป็นเกมแบทเทิลรอยัลระดับโลกที่เข้าถึงได้ง่ายบนสมาร์ตโฟนและมีความโดดเด่นด้านการนำเสนอตัวตนของผู้เล่นผ่านแฟชั่นภายในเกมที่มีความหลากหลาย
“จากการหารือกับภาครัฐเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมวัฒนธรรม สินค้าวัฒนธรรม และประเทศไทย ผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ ได้นำผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อยไทยอย่าง “กางเกงแมวโคราช” มาเป็นแฟชั่นไอเทมชิ้นใหม่ในเกม Free Fire
ที่เป็นลวดลายโมโนแกรมที่รวมเอาอัตลักษณ์ของเมืองโคราชมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นแมวสีสวาท ประตูชุมพล และอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย นับว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้เล่นด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่พาผู้เล่นทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น
ทั้งยังเป็นการเผยแพร่เสน่ห์ของประเทศไทยในมุมใหม่ๆ ออกไปสู่สายตาชาวโลก และคาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เล่นที่ปัจจุบันมีมากกว่า 568 ล้านคน จากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก โดยเปิดตัวไอเทมกางเกงแมวโคราชพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 10 มกราคม 2567” นางสาวมณีรัตน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
การนำเสนอเสน่ห์ของประเทศไทยผ่านไอเทมกางเกงแมวโคราชในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลคอนเทนต์จากอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตที่กำลังเติบโต เพื่อร่วมส่งเสริมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่สะท้อนวัฒนธรรม เรื่องราว และเสน่ห์ของประเทศไทย นำไปสู่การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต่อไปในอนาคต
โดยก่อนหน้านี้ การีนาได้นำเสนอความเป็นไทยผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเริ่มต้นจากสกินไทยภายในเกม Arena of Valor (RoV) อาทิ สกินออเจ้า สกินผีตาโขน สกินพฤกษามาศ สกินต้มยำกุ้ง และต่อยอดมาสู่ความร่วมมือบนเกม Free Fire ในครั้งนี้จะเป็นอีกโครงการที่ช่วยขยายการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในเวทีโลก
16 มกราคม 2567
ผู้ชม 80 ครั้ง