SCB CIO มองแนวโน้มเศรษฐกิจปี67 สหรัฐ-ญี่ปุ่นชะลอตัว
SCB CIO มองแนวโน้มเศรษฐกิจปี67 สหรัฐ-ญี่ปุ่นชะลอตัว
SCB CIO มองแนวโน้มเศรษฐกิจปี67 สหรัฐ-ญี่ปุ่นชะลอตัว
จีน-เวียดนามกระทบภาคส่งออก-อสังหาฯฟื้นตัวช้าเหตุดอกเบี้ยสูง
SCB CIO เผยแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 สหรัฐ-ญี่ปุ่น ควงแขนชะลอตัวแบบจัดการได้ ส่วนจีน-เวียดนาม อาจชะลอตัวค่อนข้างมากจากแรงถ่วงภาคส่งออกและอสังหาฯ
คาดการลดดอกเบี้ยเกิดครึ่งหลังของปี 2567 กระตุ้นนักลงทุนพร้อมลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากในปี 2567-2568 จะเริ่มมีหุ้นกู้ครบกำหนดอายุ ส่งผลให้มีความเสี่ยงการ rollover หนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม High Yield
แนะทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment grade) พร้อมทยอยสะสมหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย กลุ่ม Quality Growth ที่กำไรเติบโตสม่ำเสมอ และงบดุลแข็งแกร่ง
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุน ในปี 2567 มี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะอยู่ในภาวะที่แต่ละประเทศชะลอตัวไม่เหมือนกัน (Uneven slowdown) จากภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่องและค้างไว้เป็นเวลานาน (Higher for longer) ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไปจนถึงช่วงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย
โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งภาคธุรกิจที่อ่อนไหวสูงต่อดอกเบี้ย ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้าง
ทั้งนี้ประเทศที่ยังมีตลาดแรงงานและค่าจ้างเติบโต จะมีกำลังซื้อในประเทศ ช่วยทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวแบบจัดการได้ (soft landing) เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมาก และมีปัจจัยถ่วงเฉพาะตัว เช่น การฟื้นตัวช้าของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวค่อนข้างมาก เช่น จีน และ เวียดนาม
2) ดอกเบี้ยแม้จะสูงนาน แต่ตลาดก็มีความคาดหวังจะเห็นการลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง (market expectation on policy rate cuts) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
โดยในส่วนของ SCB CIO มีมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2567 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่า จะปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control : YCC) ให้เข้มงวดขี้น
ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 แล้วจึงจะยกเลิกทั้งมาตรการ YCC และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) ในเดือนต.ค.2567 โดยธนาคารกลางกลุ่มประเทศ Emerging markets ส่วนใหญ่ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย ในปี 2567
อย่างไรก็ตามแม้ตลาดคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ แต่ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น หากประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วมีแนวโน้มจะทำมาตรการการคลังขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ตลาดมีความกังวล และส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนค่าลง
3) ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงด้าน Stagflation คือเศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง โดย SCB CIO ประเมินว่ากลุ่มประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่น
ในขณะที่ภาคธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield to Worst) ของกลุ่มหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ในสหรัฐฯ
ที่ล่าสุดอยู่ในระดับ 8.6% (เทียบกับ 5.1% ในช่วงต้นปี 2563) หรือกรณี yield หุ้นกู้ไทย rating BBB อายุ 5 ปี ที่ล่าสุดอยู่ที่ 5.6% (เทียบกับ 4.2% ในช่วงต้นปี 2563)
4) ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบาย จากการเลือกตั้งในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เพราะอาจนำมาสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ได้
โดยในปี 2567 จะมีการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค. อินโดนีเซีย ในวันที่ 14 ก.พ. อินเดีย ในช่วง เม.ย.-พ.ค.และ สหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. เป็นต้น
ซึ่งในช่วงการหาเสียงและประกาศนโยบาย อาจมีผลทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความผันผวน จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศได้
“คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (interest rates peaked) ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในเงินฝาก และตลาดเงิน (money markets) ค่อนข้างมาก ฉะนั้น ในปี 2567 นี้ จึงคาดว่า นักลงทุนจะมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีมากขึ้น (increasing risk appetite)
อย่างไรก็ตามด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้เริ่มลดลงมาบ้าง รวมถึงหนี้สินในบางภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง นักลงทุนควรเน้นคัดเลือกลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง” ดร.กำพล กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ จากข้อมูลในอดีต พบว่า หลังจากที่ Fed หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 เดือน สินทรัพย์ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ยกเว้นเพียงปี 2000 ที่เกิดวิกฤตฟองสบู่กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ
ส่งผลลบต่อตลาดหุ้น และตราสารหนี้ มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่ Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรกด้วย แต่เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว จนนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed อาจทำให้ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) ปรับเพิ่มขึ้นได้
โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ประกอบกับในปี 2567-2568 จะเริ่มมีหุ้นกู้ทยอยครบกำหนดเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงการ rollover หนี้ในกลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade bonds)
ส่วนการลงทุนในหุ้นแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ที่เป็นกลุ่ม Quality Growth มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ มีงบดุลที่แข็งแกร่ง โดยสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าสนใจ ได้แก่ คาดการณ์ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นในปี 2567
และความชัดเจนของนโยบายการเงินที่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยควรให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มที่ทนทานกับทุกสภาวะเศรษฐกิจ (Defensive) มากขึ้น
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมองว่า ทยอยสะสมได้ เพราะผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และคาดว่าจะมีแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนต่างๆ มากขึ้น
สำหรับตลาดหุ้นอินเดียแนะนำทยอยลงทุน จากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในช่วงของการขยายตัว และมูลค่าหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น จากมูลค่าหุ้นที่คุ้มค่าขึ้น เมื่อพิจารณาในแง่ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง
01 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 127 ครั้ง