NEO โชว์กึ่น!ผู้นำสินค้าอุปโภคคนไทยกางแผนระดมทุน IPO ระดมทุนปี 67
NEO โชว์กึ่น!ผู้นำสินค้าอุปโภคคนไทยกางแผนระดมทุน IPO ระดมทุนปี 67
NEO โชว์กึ่น!ผู้นำสินค้าอุปโภคคนไทยกางแผนระดมทุน IPO ระดมทุนปี 67
ลงทุนโรงงานกว่า 1,000 ลบ.-ขยายกำลังการผลิตรุกตปท.-เจาะกลุ่มพรีเมียม
"บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท" หรือ NEO ผู้ทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศไทย เดินยุทธศาสตร์สู่บริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ด้วยงบลงทุน R&D สัดส่วนปีละ 5% ของรายได้
วางกลยุทธ์สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ รุกขยายผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอไปยังกลุ่มพรีเมียมแมสและกลุ่มพรีเมียมที่นำร่องไปเมื่อปี 64 รับเทรนด์ของตลาดและการดูแลชีวิตประจำวัน
เพื่อยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน ลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตและระบบคลังสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติที่ทันสมัย
พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน กางแผน IPO ตลาดหุ้นไทยปี 67 ระดมทุนสร้างโรงงานกว่า 1,000 ล้านบาทใน 4-5 ปี ขยายกำลังผลิตรุกตลาดส่งออกโฟกัส CLMV จากปัจจุบันที่สัดส่วน 13-15% รับแผนโตปีละมากกว่า 10%
นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “NEO”) เปิดเผยว่า บริษัทผู้ทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของคนไทยที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่น
ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่งและคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ที่ยึดมั่นการพัฒนาและนำเสนอสินค้าอุปโภคที่เข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพและหลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ด้วยราคาที่เหมาะสม
พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าอุปโภคมากว่า 34 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค”
ส่งมอบนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ช่วยดูแลชีวิตประจำวันของทุกคนให้ได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น (Uplift Essentials for Everyday Betterment)
ปัจจุบัน NEO มีสินค้าอุปโภคครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products)
ประกอบด้วย 3 แบรนด์ ได้แก่ (1) แบรนด์ไฟน์ไลน์ (Fineline) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ (2) แบรนด์สมาร์ท (Smart)
เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม สูตรแอนตี้แบคทีเรีย และ (3) แบรนด์โทมิ (Tomi) เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ (1) แบรนด์บีไนซ์ (BeNice) เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น (2) แบรนด์ทรอส (TROS) เช่น ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้ชาย
(3) แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) เช่น ผลิตภัณฑ์แป้ง ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง และ (4) แบรนด์วีไวต์ (Vivite) เช่น ผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง
3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) ภายใต้แบรนด์ดีนี่ (D-nee) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก เป็นต้น
บริษัทได้วางกลยุทธ์การทำตลาดมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ สร้างสรรค์คุณสมบัติที่มีเอกลักษณ์ จึงทำให้เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์มีนวัตกรรมโดดเด่นและแตกต่าง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัยและทุกไลฟ์สไตล์
อีกทั้งบริษัทไม่หยุดนิ่งในการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ เพื่อนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio) ที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย
ทำให้สามารถขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) ได้ในหลายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งรักษาลูกค้าปัจจุบันให้กลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง (Brand Loyalty)
และยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 16 ประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเมียนมาร์
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา NEO ส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ อาทิ การออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ดีนี่ (D-nee) ในปี 2540 โดยมีจุดเด่นในด้านคุณภาพที่ดี อ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก
ด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่นส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ภายในปีแรก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในปี 2565 โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) บริษัทได้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพทำความสะอาดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
การออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นสารสกัดจากธรรมชาติและมีความอ่อนโยน รวมถึงการขยายสินค้าไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย
โดยในแต่ละปีบริษัทมีการใช้งบประมาณในการ R&D ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สัดส่วน 5% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้นั้นแต่ละปีเติบโตมากกว่า 10% ที่แม้กระทั่งช่วงโควิด-19 หรือสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด" นายสุทธิเดช กล่าวย้ำ
นางปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ NEO กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
อีกทั้งปัจจัยการก้าวเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ที่ขยายตัวและเกิดวิถีชีวิตใหม่ด้านสุขอนามัย ส่งผลให้อัตราการอุปโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่มีการเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและขยายตัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้อุตสาหกรรมอุปโภคเติบโต โดยบริษัทได้วางกลยุทธ์มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่าน 3 แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่
1) กลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มความนิยมของผลิตภัณฑ์และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทมีการนำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development) รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม (Relaunch) ให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น และมุ่งขยายสินค้าในพอร์ตโฟลิโอไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ได้เริ่มทำตลาดไปเมื่อปี 2564
พร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างครบวงจร นอกจากนี้บริษัทยังมีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินค้าที่มีศักยภาพเติบโตสูงให้ใกล้กับผู้นำตลาดมากขึ้น (Close Gap)
2) กลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง (Supply Chain Optimization) โดยการมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและการศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาขั้นตอนและกระบวนการผลิต
ยกระดับฐานการผลิต ติดตั้งเครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการลงทุนในระบบบริหารจัดการการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปคลังสินค้าอัตโนมัติ พร้อมมุ่งบริหารจัดการวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3) การให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรปลูกฝังความรู้ให้กับบุคลากร สนับสนุนกิจกรรมชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainability Brand)
นางสาวณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ NEO กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอยู่เสมอ โดยทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ NEO มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในธุรกิจสินค้าอุปโภค
สามารถมองเทรนด์ของตลาด และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับทุกคน และช่วยเพิ่มคุณค่าให้แต่ละผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งเมื่อปี 2565 บริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 412 รายการ (SKUs) อีกทั้งยังมีโครงการในการวิจัยและพัฒนาในการลดต้นทุนการผลิต โดยการหาตัวเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการผลิตและราคาที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของตลาดสินค้าอุปโภคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่แบรนด์ชั้นนำระดับสากลและเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคสูงสุด
ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.86% ต่อปี จากเดิมที่ 142,800 ตันต่อปี ในปี 2563
อีกทั้งบริษัทมีการลงทุนในอาคารและระบบคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems: ASRS) เพื่อรองรับแผนการเติบโตในอนาคต
โดยปัจจุบันสามารถจัดเก็บสินค้าได้ 35,000 พาเลท และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติรองรับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 10,700 พาเลท
โดยคาดว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ซึ่งบริษัทวางแผนการลงทุนสร้างในช่วง 4-5 ปีนี้กว่า 1,000 ล้านบาท โดยการระดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในต้นปี 2567 ต่อไป
ร่วมถึงเพื่อรองรับแผนงานการขยายตลาดส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะ CLMV ที่เป็นตลาดหลัก จากทั้งหมด 16 ประเทศ ในขณะที่สัดส่วนรายได้ต่างประเทศอยู่ที่ 13-15% ในปัจจุบัน
10 พฤศจิกายน 2566
ผู้ชม 185 ครั้ง