SCGP โชว์ผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ รับสังคมสูงวัย
SCGP โชว์ผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ รับสังคมสูงวัย
SCGP โชว์ผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ รับสังคมสูงวัย
โครงการ"SCGP Packaging Speak Out 2023" "พลังรุ่นใหม่" เพื่อรุ่นใหญ่
SCGP ชูพลังรุ่นใหม่เพื่อรุ่นใหญ่ ประกวดออกแบบผ่านโครงการ "SCGP Packaging Speak Out 2023" ในโจทย์ “แพคเกจจิ้งเพื่อผู้สูงวัย” รอบตัดเชือก 10 ทีมสุดท้าย
จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 288 ผลงาน โดยทีม 60s Kids คว้ารางวัลชนะเลิศ จากผลงาน "ศีรษะ" ออกแบบแพคเกจจิ้งแชมพูและครีมนวดผมเพื่อแก้ปัญหาผู้สูงวัยลื่นล้มในห้องน้ำ
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า หนึ่งในวิสัยทัศน์การพัฒนาธุรกิจ SCGP คือการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนา “คุณภาพชีวิตที่ดี” ของผู้คนผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
จึงเป็นที่มาของการจัดการประกวด SCGP Packaging Speak Out ส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้ง ซึ่งจัดมาต่อเนื่อง โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 กับการออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการสร้างสรรค์ “แพคเกจจิ้งเพื่อผู้สูงวัย” พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่
ภายใต้แนวคิด Possibilities for the Betterment รับเทรนด์สังคมสูงวัยในไทย และอีกหลายประเทศในโลก (Aging Society) ซึ่งมองเป็นโอกาสของธุรกิจแพคเกจจิ้งในอนาคต
“SCGP ยินดีที่ได้จัดกิจกรรมนี้ นอกเหนือจากการประกวดที่ต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือน้องๆ ได้มีโอกาสในการได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่จะติดตัวไปในการดำเนินชีวิตและการทำงานในอนาคต
โดยในแง่ของการออกแบบแพคเกจจิ้ง จุดแข็งหนึ่งคือการมีงานวิจัย มีข้อมูลที่เป็นความจริงรองรับ ซึ่งจะสะท้อนความเป็นไปได้ในการนำแพคเกจจิ้งนั้นไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
สำหรับการประกวด SCGP Packaging Speak Out 2023 ในครั้งนี้มีผลงานที่ Gen Z ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 288 ผลงาน คัดผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เพื่อนำเสนอผลงานชิงเงินรางวัลรวม 200,000 บาท
ภายใต้เกณฑ์ความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดการออกแบบตามโจทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยและเพื่อโลกที่ยั่งยืน การออกแบบโครงสร้างแพคเกจจิ้ง การออกแบบกราฟิกให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และความเป็นได้ในพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ
โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (The Best of Challenge) ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท ได้แก่ ทีม 60s Kids นางสาวฎีการัช ธรรมรัตนกุล และนายกรณ์ชัช ติยวุฒิโรจนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน "ศีรษะ"
โดยนำปัญหาของผู้สูงวัยจากงานวิจัยที่พบว่า ปัญหาการล้มในผู้สูงวัย มากกว่า 50% เกิดในห้องน้ำ มาออกแบบแพคเกจจิ้งผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงวัยในห้องน้ำ ได้แก่ ฝากดแบบมือเดียว ง่ายต่อการใช้งาน
มีแผ่นซิลิโคนกันลื่นที่บริเวณกด มีพื้นผิวนูนด้านข้างขวดช่วยเพิ่มแรงเสียดทาน ลดการลื่น มีตัวอักษรขนาดใหญ่อ่านชัด ไม่ใส่ข้อมูลมากเกินไป ใช้สีและขนาดดึงดูดสายตา ใช้รูปภาพสัญลักษณ์เพื่อช่วยการอธิบาย
และเลือกใช้วัสดุ Mono-layer plastic : PE พลาสติกที่สร้างจากพลาสติกชนิดเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล สะท้อนความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
รางวัลรองชนะเลิศ (Runner-Up) ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Dec Product นางสาวอัญชิสา อมรธนภัทร และนางสาวพรรษชล ไตรวิทยากร คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับผลงาน “เนตรา”
ชุดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ทำความสะอาดตาสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าต้อกระจก โดยออกแบบแพคเกจจิ้งให้สามารถใช้งานได้ง่ายด้วยมือเดียว ขนาดแพคเกจจิ้งไม่เล็กมากทำให้มองเห็นจากระยะไกลได้ชัดขึ้น จับถนัดมือ น้ำยาไม่หกขณะปิด สีสะดุดตา มีตัวหนังสือขนาดใหญ่ เป็นต้น
รางวัล Honorable Mentions ได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท ได้แก่ ทีม 123 หน่อ นายวิริทธิ์พล จันทรศิริจัน นางสาวธัญณิชา วันทยะกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนายยุวรัตน์ บุญมาศ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
จากผลงาน แพคเกจจิ้งผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตรา Comfee แพคเกจจิ้งทรงสี่เหลี่ยมเพื่อความสะอาดในการจัดเก็บและวางต่อกันบนชั้นวางของร้านค้า มีหูหิ้วข้างกล่องเพื่อความสะดวกในการขนย้าย
ทีม Woof Woof นางสาวลภัสรดา สฤษฎ์ผล และนางสาวสุนทรีลักษณ์ เอี๋ยตระกูล คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
จากผลงาน เฟลอร์ บรรจุภัณฑ์ขวดใส่ปุ๋ยแบบน้ำเพื่อผู้สูงอายุ ถูกออกแบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปิดขวดยาก เป็นบรรจุภัณฑ์แบบขวดที่มีฝาขวดเป็นรูปทรงดอกไม้
ทีม Pin นางสาวชัญญารัสมิ์ ปิ่นแก้ว คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน ฟิตฟุต กล่องรองเท้าเพื่อสุขภาพ ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพร่างกายที่ผู้สูงอายุในครอบครัวเราพบเจออยู่เป็นประจำ โดยออกแบบให้กล่องรองเท้าสามารถสร้างคุณค่าต่อด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ที่ใช้บริหารฝ่าเท้าได้
และทีม ppm นางสาวปาริตา ยิ่งยงอุดมผล นางสาวพรสินี น้อยประชา และนางสาวอนันตชา จั่นอยู่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงาน ยาดมสมุนไพร ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มฟังก์ชันแบบปุ่มนวด เพื่อให้ผู้สูงวัยได้บริหารมือในขณะใช้งาน
ทุกผลงานล้วนเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหญ่ พร้อมทั้งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และเป็นมิตรกับโลก ที่น้องๆ รุ่นใหม่ทุ่มเทออกแบบและระเบิดความสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ
เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ชาวสูงวัยได้แฮปปี้ เพื่อร่วมเปลี่ยนสังคมและโลกให้น่าอยู่และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดผลการแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่ https://thechallenge.scgpackaging.com/en/ideaTank-th
16 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 632 ครั้ง