เปิดสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา)-สำนักงาน คปภ. จ.นครราชสีมา
เปิดสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา)-สำนักงาน คปภ. จ.นครราชสีมา
เปิดสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา)-สำนักงาน คปภ. จ.นครราชสีมา
โชว์กึ๋น!นำเทคโนโลยีทันสมัยบริการประชาชนการประกันภัยอย่างครบวงจร
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา แห่งใหม่
โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และมีนายสรายุทธ อุดมพร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครราชสีมา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมงานและแสดงความยินดี
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าเหตุที่มีการย้ายสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา มายังที่ทำการแห่งใหม่ เนื่องจากอาคารเดิมเป็นอาคารเช่า มีความชำรุด สภาพไม่พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่
จึงได้มอบนโยบายให้ไปหาที่ทำการแห่งใหม่ จนทำให้สามารถไปจัดซื้ออาคารเพื่อเป็นที่ทำการแห่งใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้นครึ่งพร้อมที่ดิน มีเนื้อที่ใช้สอย 473 ตารางเมตร ซึ่งเพียงพอและเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานที่เป็นสัดส่วน
จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่เป็นที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งมีห้องพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ห้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ศูนย์สอบนายหน้าประกันภัย และห้องประชุม ทั้งนี้เพื่อรองรับข้อพิพาทด้านประกันภัย ตลอดจนภารกิจของสำนักงานฯ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย
เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนผู้เอาประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มาติดต่อขอรับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานในการให้บริการมากยิ่งขึ้น
ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา แห่งใหม่นี้ จะนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ มีระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย
โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ
อันจะเป็นประโยชน์และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน ลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจมากขึ้น อันจะสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
สำหรับข้อมูลธุรกิจประกันภัยของจังหวัดภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) พบว่าในปี 2565 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 40,364.46 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันชีวิต 27,456.10 ล้านบาท เบี้ยประกันวินาศภัย 12,908.36 ล้านบาท อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตและอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันวินาศภัยต่อประชากรของสำนักงาน คปภ. จังหวัดภายใต้
การกำกับอยู่ที่ร้อยละ 26.52 และร้อยละ 31.99 ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยภายใต้การกำกับของสำนักงาน คปภ.ภาค 4 (นครราชสีมา) ปี 2565 มีการขยายตัวเพิ่มจากปี 2564 กว่าร้อยละ 5.87 ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ปี 2565 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 16,895.55 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.26 เมื่อเทียบกับปี 2564 แบ่งออกเป็นเบี้ยประกันชีวิตกว่า 11,511.75 ล้านบาท เบี้ยประกันวินาศภัยกว่า 5,383.80 ล้านบาท
อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตและอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันวินาศภัย อยู่ที่ร้อยละ 25.97 และร้อยละ 33.53 มีสาขาบริษัท สำนักงานตัวแทนและนายหน้าประกันภัย 72 แห่ง มีตัวแทนและนายหน้าประกันภัยบุคคลธรรมดา จำนวน 27,921 ราย มีธนาคารพาณิชย์ 204 แห่ง
จะเห็นได้ว่าภาพรวมของธุรกิจประกันภัยจังหวัดนครราชสีมา มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19
แต่ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญและช่วยเสริมศักยภาพรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำกับ ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยให้กับประชาชน
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ประสบภัยกรณีเกิดอุบัติภัยรายใหญ่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีและเป็นธรรม
ตลอดจนผลักดันให้ระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับ
ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (การประกันอัคคีภัยสำหรับศาสนสถาน)
จึงเชื่อว่าการเปิดสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมาแห่งใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้สำนักงานแห่งนี้
จะช่วยให้การติดตามบริษัทประกันภัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งส่งผลในการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาได้อย่างดียิ่ง
“การเปิดที่ทำการใหม่ของสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา และการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับบริการที่ดี
และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย รวมทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสังกัดจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งผมได้มอบนโยบายการดำเนินงานเชิงรุก โดยให้สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญในเรื่องการให้บริการประชาชน ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยที่ถูกต้อง
รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบประกันภัยยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวสรุป
04 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 173 ครั้ง