กรุงศรี เปิดเวทีอัปเดตโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ
กรุงศรี เปิดเวทีอัปเดตโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ
กรุงศรี เปิดเวทีอัปเดตโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ
เปิดเส้นทางพลิกโฉมซัพพลายเชนสู่ความสำเร็จในโลกอนาคต
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เปิดเวทีอัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจ ชี้โอกาสการลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมเผยกลยุทธ์พลิกโฉมซัพพลายเชนเพื่อปรับตัวสู่โลกอนาคต
ในงานสัมมนา Krungsri Business Talk : Reinventing Business for the Future สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินของกรุงศรี
ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และที่ปรึกษาด้านซัพพลายเชน จาก EY ประเทศไทย
ที่มาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางและโอกาสในการปรับตัวทางธุรกิจสู่ความสำเร็จในโลกอนาคต เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายทั้งเรื่องของ Supply Chain การเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียน และการเติบโตของ EEC
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ จำเป็นจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน
กรุงศรี จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้กับลูกค้าของธนาคาร นอกจากนี้ กรุงศรี ยังพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของลูกค้าธุรกิจ
ผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และความเชี่ยวชาญทางการเงิน เพื่อช่วยขยายโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ รวมทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มาร่วมอัปเดตโอกาสในการลงทุนผ่านแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC (พ.ศ. 2566-2570) ว่า การพัฒนาพื้นที่ EEC มีเป้าหมายสำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ (EV) เศรษฐกิจ BCG และการบริการ เพื่อช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
โดยมีแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายด้วยเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ได้แก่ 1. การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
รวมถึงการพัฒนาเมือง พัฒนาธุรกิจในพื้นที่ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างและจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2570 แล้วนั้น
ยังมีแผนผลักดันโครงการลงทุน PPP ใหม่ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลซึ่งจะยกระดับด้านบริการสาธารณสุขให้คนในพื้นที่ EEC รวมไปถึงโครงการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
2. มีการกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Exclusive) อาทิ มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลหรืออากรขาเข้า มาตรการส่งเสริมที่ใช่ภาษี รวมถึงการช่วยอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ภายใต้ พ.ร.บ. อีอีซี เป็นต้น
3. เน้นการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Collaborative) เพื่อทำให้การลงทุนเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน อาทิ ผลักดันการพัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
และด้วยกรอบการพัฒนาข้างต้น เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุน รวมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ และกระจายต่อเพื่อพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ และสังคมระยะยาวต่อไป
ด้าน นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่อทิศทางตลาดเงินว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงิน ซึ่งปัจจุบันเฟดยังคงเปิดช่องสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหากจำเป็น
อย่างไรก็ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดพีคมาแล้ว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง จึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวที่สามารถจัดการได้ (Soft Landing) ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า
สำหรับค่าเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินประจำภูมิภาค ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ อัตราการว่างงานของผู้มีอายุน้อย และยังมีแรงเสียดทานจากปัญหากับสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจากการปลดล็อกนโยบายปลอดโควิดผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้
สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมา BOJ ยังคงย้ำจุดยืนที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบสวนทางกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดเรื้อรัง
อย่างไรก็ตามตลาดคาดการณ์ว่า BOJ น่าจะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนนโยบายทางการเงินแล้ว ในส่วนของค่าเงินบาทมองว่าเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพและสะท้อนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ลดลง จึงอาจมีการปรับลด GDP ปีนี้ลงเล็กน้อย
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย กรุงศรีมองว่าความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีน้อยลง จึงคาดว่าน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% แต่จะเป็นการคงไว้ในระยะยาว (Extended Period)
ด้วยปัจจัยด้านโอกาสที่เอื้อต่อการลงทุน รวมไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะทยอยฟื้นตัว จากนี้ธุรกิจจะต้องเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตต่อไป
ในช่วงท้ายของการสัมมนา นายศุกร ทัพเจริญ ผู้อำนวยการ สายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ และหัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชนและโอเปอร์เรชัน EY ประเทศไทย ได้ให้มุมมองว่า หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ (Disruptions) ทั้งที่เป็นเมกะเทรนด์โลกหรือแม้แต่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด เช่น โควิด อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ
ธุรกิจและซัพพลายเชนจะต้องรู้จักปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้แนะนำแนวทางในการพลิกโฉมกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชน เพื่อปรับตัวสู่โลกธุรกิจใหม่และจัดการกับ Disruptions ได้อย่างรวดเร็ว
ผ่านหลักการบริหารจัดการ 5 ข้อ ได้แก่ 1. กำหนดทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายของซัพพลายเชน ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายหลักขององค์กรเพื่อให้ทั้งองค์กรมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเพื่อให้การพัฒนากระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนตอบสนองต่อเป้าหมายขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น
2. การจัดทำระบบซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น ตรวจสอบได้ (Transparency and Resiliency) และสามารถประสานงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เช่น ผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบตลอดจนลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. การประเมินและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจต้นทุนอย่างละเอียดและจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาหรือลดต้นทุนในการบวนการทำงาน เพื่อที่จะรับรู้ผลประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นรากฐานสำคัญของการลงทุนและพัฒนาซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องด้วย 4. การคำนึงถึงความยั่งยืนผ่านการประยุกต์ใช้ Circular Economy นั่นคือ ผลิต บริโภคและนำกลับมาใช้ใหม่
ซึ่งสามารถลดต้นทุน ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และยังสามารถดึงดูดผู้บริโภคและนักลงทุนได้อีกด้วย และ 5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
อาทิ Blockchain, AI/ML, Digital Twin หรือ Control Tower เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในซัพพลายเชนและต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาการทำงานที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (People at the center) ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือพนักงาน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น
งานสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่ออัปเดตสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า
พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า ผู้สนใจสามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook และ Krungsri.com
07 กันยายน 2566
ผู้ชม 155 ครั้ง