"เอสซีจี" เร่งปรับตัวสู้เศรษฐกิจผันผวนหลังยอดขาย-กำไรทรุด!
"เอสซีจี" เร่งปรับตัวสู้เศรษฐกิจผันผวนหลังยอดขาย-กำไรทรุด!
"เอสซีจี" เร่งปรับตัวสู้เศรษฐกิจผันผวนหลังยอดขาย-กำไรทรุด!
ชูธง!4ธุรกิจเมกะเทรนด์โลก-ลดต้นทุน-หนุนSCG Decorเข้าเทรด
ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 2 ปี 2566 ฟื้นตัวจากการเร่งปรับตัวตามแผนงาน ท่ามกลางเศรษฐกิจอาเซียน จีน โลกชะลอตัว เตรียมคว้าโอกาสรับตลาดโลกฟื้นด้วย 4 ธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลก
โครงการปิโตรเคมีครบวงจรใหญ่สุดในเวียดนามผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงป้อนตลาดในภูมิภาค-Bio-based Plastic
จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ย่อยสลายได้-วัสดุกักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมลดคาร์บอน-
SCG Decor ปักธงเบอร์ 1 ในอาเซียน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก จีนและอาเซียน ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ เอสซีจี ได้เร่งปรับตัวต่อเนื่องตามแผนงานด้วยการลดต้นทุน เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) และสินค้ากรีน
ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ด้วยอานิสงส์จากการท่องเที่ยว ตลาดวัสดุก่อสร้างดีขึ้นโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ส่งผลให้ผลประกอบการเอสซีจีดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 เอสซีจี มีรายได้ 124,631 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน
โดยมีกำไรสำหรับงวด 8,082 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาสก่อน กำไรจากการดำเนินงาน 5,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากปริมาณการขายสินค้าพอลิโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นในธุรกิจเคมิคอลส์ และต้นทุนพลังงานที่ลดลง
งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาส 2 ประจำปี 2566 มีดังนี้
ทั้งนี้ เอสซีจี มีรายได้จากการขาย 124,631 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขายลดลง
ในขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น โดยเอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 8,082 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics จากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้มีกำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษ (Profit excluding extra items) 5,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีรายได้เงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น (ธุรกิจยานยนต์)
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 เอสซีจี มีรายได้จากการขาย 253,379 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกัน
ของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงของทุกกลุ่มธุรกิจจากสถานการณ์ตลาดที่อ่อนตัว
มีกำไรสำหรับงวด 24,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน ขณะที่มีกำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษ (Profit excluding extra items) 9,786 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services–HVA) ในครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้ 86,411 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม ยอดขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green Choice 137,258 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของรายได้จากการขายรวม
นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ทั้งสิ้น 108,672 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของรายได้จากการขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีมูลค่า 942,018 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (ไม่รวมไทย)
นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และ ครึ่งปีแรกของปี 2566 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 48,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณขายพอลิโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น กำไรสำหรับงวด 741 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 45 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาขายลดลง
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) มีรายได้จากการขาย 95,560 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง
โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,097 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ประกอบกับปริมาณขายและส่วนต่างราคาขายลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 46,432 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุมาจากไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics เนื่องจากได้รวมกิจการกับ JWD ในไตรมาสแรกรวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนนอกเหนือจากประเทศไทยที่ถดถอย
โดยมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ถดถอย
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 97,232 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 14,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,302 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลการดำเนินงานแบ่งตามธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 21,340 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มีรายได้จากการขาย 44,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 6,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิงมีรายได้จากการขาย 12,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,049 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล มีรายได้จากการขาย 64,025 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง (SCGP) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 32,216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุจากปริมาณขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ลดลง โดยเป็นผลกระทบจากช่วงวันหยุดเทศกาลโดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย
ในขณะที่รายได้จากการขายสำหรับบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์กับบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รายได้จากการขายลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทบต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ทั้งจากตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าไม่จำเป็น
โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,485 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษในภูมิภาคปรับตัวลง
ทั้งนี้กำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และพลังงานลดลง และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 ธุรกิจแพคเกจจิ้ง (SCGP) มีรายได้จากการขายรวม 65,945 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ลดลง ในช่วงที่อุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดส่งออกยังชะลอตัว
โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,705 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายที่ลดลง โดยเฉพาะกระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับรายได้จากการขาย
ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2566 ในอัตรา 2.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2566
กำหนดผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) ในวัน 9 สิงหาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566
“นอกจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังปรากฏการณ์ภัยแล้งเอลนีโญ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงสิงหาคมปีนี้ถึงปลายปี 2567
อย่างไรก็ตามสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. คาดการณ์ว่า ในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมปีนี้จะมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่
ทุกภาคส่วนควรกักเก็บน้ำสำรองไว้ให้มากที่สุด และใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพราะปีหน้าอาจเกิดเอลนีโญระดับรุนแรง และเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรม” นายรุ่งโรจน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
จากทิศทางของการดำเนินงานในธุรกิจต่างๆ ทาง เอสซีจี จึงเตรียมคว้าโอกาสตลาดโลกฟื้นด้วยการเร่งเครื่อง 4 ธุรกิจตอบเมกะเทรนด์โลก ได้แก่ 1. โครงการปิโตรเคมีครบวงจรใหญ่สุดในเวียดนาม ฐานผลิตสำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ผลิตนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ป้อนตลาดโลก ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว
2. ผนึกกำลังกับคู่ธุรกิจชั้นนำระดับโลกด้านนวัตกรรมกรีน ยกระดับ Green Innovation ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก และสอดคล้องกับเทรนด์ ESG
ได้แก่ นวัตกรรม "Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ" โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับพลาสติก Bio-PET ที่ย่อยสลายได้
3. ลงทุนในเทคโนโลยีวัสดุกักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด ที่เก็บอุณหภูมิได้สูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ความร้อน ตอบโจทย์การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสีเขียว ตามเป้าหมาย Net Zero
และ 4. เตรียม SCG Decor เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ผู้นำตลาดอาเซียนด้านวัสดุตกแต่งผิว และสุขภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม Smart Bathroom โดยมูลค่าตลาดอาเซียนมีโอกาสโตสูงถึง 78,000 ล้านบาท ในปี 2569
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีบริหารต้นทุนพลังงานได้ดีในช่วงที่ราคาพลังงานผันผวน โดย 6 เดือนแรกของปี 2566 โดยเฉพาะธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทยได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนได้ร้อยละ 40
นอกจากนี้ธุรกิจพลังงานสะอาด SCG Cleanergy ซึ่งให้บริการซื้อ-ขายไฟฟ้าครบวงจร สำหรับภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม เติบโตต่อเนื่อง โดดเด่นด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid เริ่มใช้งานแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง
ทั้งนี้เอสซีจีมีการติดตั้งโซลาร์สำหรับใช้ภายใน และส่วนที่ให้บริการกับภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนผ่าน SCG Cleanergy คิดเป็นกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 231 เมกะวัตต์ ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566
ขณะเดียวกันเอสซีจียังได้ลงทุนใน Rondo Energy สตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ร่วมวางแผนผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน (Thermal Media) สามารถกักเก็บความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส
ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ความร้อน (Rondo Heat Battery) นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเก็บเป็นความร้อน ใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่มุ่งสู่ Net Zero ตามแนวทาง ESG
นอกจากนี้ กลุ่มไทยเบฟและเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ร่วมลงทุนใน NocNoc ศูนย์รวมสินค้าและบริการเรื่องบ้านออนไลน์ เพื่อขยายธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียน โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2566 เติบโตเป็น 5,000 ล้านบาท
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า ยอดขายรวมของ SCGC ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากปริมาณการขายสินค้าพอลิโอเลฟินส์ที่เพิ่มขึ้น และส่วนต่างราคาสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้น
ล่าสุด โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม อยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่างๆ ภายในโรงงาน เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป ขณะเดียวกันได้ผนึกกำลัง 2 ผู้นำเทคโนโลยีกรีนพลาสติกของโลก
บริษัท Avantium N.V. จากเนเธอร์แลนด์ และ บริษัท ไอเอชไอ (IHI) จากญี่ปุ่น เตรียมสร้างโรงงานต้นแบบนำก๊าซ CO2
มาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรักษ์โลก รวมถึงพัฒนาเป็นวัตถุดิบทางเลือกอื่นๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และลด
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เศรษฐกิจอาเซียนชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อยอดขายทั้งกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics เนื่องจากได้รวมกิจการกับ JWD ในไตรมาสแรก
ในขณะที่ยอดขายธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลงเล็กน้อย แต่คาดว่ากำลังซื้อจะกลับมาโดยเฉพาะนวัตกรรมสินค้า บริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการความคุ้มค่า สะดวก ปลอดภัย รักษ์โลก
ประกอบกับอาเซียนมีประชากรกว่า 560 ล้านคน เอสซีจี เตรียมคว้าโอกาสนำ SCG Decor เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปักธงเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน ชูนวัตกรรม Smart Bathroom โดยมูลค่าตลาดอาเซียนมีโอกาสสูงถึง 78,000 ล้านบาท ในปี 2569
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปี 2566 สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มาจากการวางกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน SCGP ได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากอเมริกา Origin Materials
ซึ่งผลทดสอบล่าสุดได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 การทดสอบในห้องปฏิบัติการ และขั้นตอนที่ 2 การปรับคุณสมบัติที่เหมาะสม พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 Pilot Plant และเลือกพันธมิตรเพื่อร่วมมือพัฒนาในขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนา Biodegradable Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลก
และเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้ยูคาลิปตัส สร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทางการปลูกจนถึงการแปรรูปไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
29 กรกฎาคม 2566
ผู้ชม 314 ครั้ง