สมาคมประกันชีวิตไทย เตือนภัย SMS อ้างบริษัทประกันชีวิต
สมาคมประกันชีวิตไทย เตือนภัย SMS อ้างบริษัทประกันชีวิต
สมาคมประกันชีวิตไทย เตือนภัย SMS อ้างบริษัทประกันชีวิต
หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล แนะนำตรวจสอบก่อนหลงเชื่อ
สมาคมประกันชีวิตไทย เตือนภัย!กลโกงมิจฉาชีพอาชญากรรมทางเทคโนโลยีรูปแบบข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทประกันชีวิต
โดยหลอกลวงเหยื่อให้กดลิงก์ที่ส่งมากับข้อความสั้น (SMS) เพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน ส่งผลกระทบให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นบริษัทประกันชีวิต ลวงชวนให้ผู้เอาประกันภัยหลงเชื่อ โดยใช้อุบายแจ้งให้ผู้ที่ได้รับข้อความสั้น (SMS)
โดยนำเรื่องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือเกี่ยวกับบริษัทประกันชีวิตมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น คุณคือผู้โชคดีที่ได้รับเงินปันผลจากกรมธรรม์ประกันชีวิต
เงินค่าสินไหมทดแทน หรือ รับคูปองเติมน้ำมัน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบที่บริษัทก่อตั้งขึ้น เป็นต้น พร้อมแนบลิงก์ให้กดเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรับสิทธิ์
สมาคมประกันชีวิตไทย จึงขอเตือนให้ผู้เอาประกันภัย อย่าหลงเชื่อ กดลิงก์หรือกรอกข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เมื่อได้รับข้อความสั้น (SMS) รวมถึงตอบรับคำเชิญคนที่ไม่รู้จักบนแพลตฟอร์ม LINE
ทั้งนี้โปรดสังเกตเบอร์โทรศัพท์ที่ส่งข้อความ มักเป็นหมายเลขที่มาจากต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว และข้อความดังกล่าวมักไม่มีการระบุชื่อผู้รับ ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อกลับที่ชัดเจน
หรือเป็นข้อความที่มีเนื้อหาที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือเกิดความดีใจเป็นอย่างมาก จนทำให้ผู้รับข้อความสั้น (SMS) ไม่ได้ระมัดระวังในการตั้งข้อสงสัย
นอกจากนี้ข้อสังเกตอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ ลิงก์หรือเว็บไซต์ที่แนบผ่านข้อความสั้น (SMS) มักจะเลียนแบบให้ดูเหมือนเป็นลิงก์ของบริษัทประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันภัยคุ้นเคย
ทั้งนี้หากไม่แน่ใจว่าข้อความที่ได้รับมาจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่ โปรดสังเกตที่ URL โดยที่ลิงก์ไม่ปลอดภัยมักจะขึ้นต้นด้วย http:// ส่วนลิงก์ที่ปลอดภัยมักขึ้นต้นด้วย https:// โดยจะต้องมีตัว s ต่อท้าย ซึ่งหมายถึง ‘Secure’ (ความปลอดภัย)
ดังนั้นหากผู้เอาประกันภัยได้รับข้อความสั้น (SMS) ที่มีลักษณะข้างต้น สามารถตรวจสอบหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าของบริษัทประกันชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่า ข้อความสั้น (SMS) ที่ได้รับเป็นของบริษัทประกันชีวิตใช่หรือไม่
ทั้งนี้อย่ากดลิงก์ หรือ กรอกข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เช่น ชื่อ นามสกุลเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ก่อนการตรวจสอบโดยเด็ดขาด เพราะเท่ากับให้ข้อมูลส่วนบุคคลให้มิจฉาชีพหรือกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเงินเป็นจำนวนมากโดยที่คาดไม่ถึง
30 มีนาคม 2566
ผู้ชม 1270 ครั้ง