สถิติ

66384710

"กรุงเทพประกันภัย" ปรับแผนธุรกิจปี66 ปั๊ม!เบี้ยรวมโต12.5%    

   "กรุงเทพประกันภัย" ปรับแผนธุรกิจปี66 ปั๊ม!เบี้ยรวมโต12.5%
   ชูนวัตกรรมผลิตภัณฑ์/บริการ/รุก!EV-พลิกฟื้น!กำไร3,500ลบ.


   กรุงเทพประกันภัย เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566 “Year of Resilience towards Sustainable Growth” ปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 30,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12.5

   เดินหน้าพัฒนาธุรกิจในทุกมิติด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่าง นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้มากกว่าและพิเศษยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ พร้อมพลิกฟื้น!กลับมาทำกำไร 3,500 ล้านบาทในสิ้นปี 66 นี้

   ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2565 ว่า เเม้จะสามารถขยายงานด้านเบี้ยประกันภัยรับรวมได้เกินเป้าหมาย โดยเติบโตจากปี 2564 ร้อยละ 8.8 หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,676.3 ล้านบาท

   และมีรายได้สุทธิจากการลงทุน 6,254.6 ล้านบาท เเต่เนื่องด้วยภาระผูกพันในการจ่ายเคลมสินไหมทดเเทนประกันภัยโควิด-19 ที่สิ้นสุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยจ่ายเคลมไปมากกว่า 8,700 ล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 638.4 ล้านบาท

   แต่ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท รวมทั้งปี 15.50 บาท บนพื้นฐานของการมีความมั่นคงทางการเงิน

   เเละมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 179.4 (ณ 30 ก.ย. 65)

   พร้อมยืนหยัดความแข็งแกร่งด้วยการรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ พ.ย. 65) โดย Standard & Poor's (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก

   สำหรับเเนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 กรุงเทพประกันภัยประเมินว่าภาพรวมธุรกิจจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเเนวโน้มจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติการเเพร่ระบาดของโควิด-19

   เเละกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

   เเละการขยายตัวของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเเละชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ

   รวมถึงยังมีนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในอัตรา 150-300 บาทต่อคน ซึ่งคาดว่าค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นเบี้ยประกันภัยสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาสู่ระบบกว่า 1,000 ล้านบาท

   ด้านตลาดการรับประกันภัยต่อ ยังคงมีการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนเเรงและมีความถี่สูงขึ้นจากปัญหา Climate Change ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ต้นทุนการชดใช้ค่าสินไหมทดเเทนเพิ่มสูงขึ้น

   บริษัทประกันภัยจึงมีโอกาสได้รับเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันการเเข่งขันด้านราคามีเเนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์

   ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องถูกปิดกิจการเเละประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ผนวกกับการเตรียมรับมือกับอัตราค่าสินไหมทดเเทนของประกันภัยรถยนต์ที่มีเเนวโน้มจะเริ่มกลับมาสูงขึ้น เมื่อการเดินทางเเละการใช้ชีวิตของผู้คนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

   จากปัจจัยที่สนับสนุนข้างต้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-5.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

   ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น เเละอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

   รวมถึงยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เเละราคาบ้านอยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น

   ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเบี้ยประกันอัคคีภัย เช่นเดียวกับประกันภัยทางทะเลเเละขนส่งที่ย่อมได้รับผลกระทบจากการส่งออกของประเทศที่หดตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก

   ขณะที่ประกันภัยสุขภาพ เเม้จะได้รับผลบวกจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยเเละภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น เเต่บริษัทประกันภัยมีเเนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายงานประเภทนี้มากขึ้น

   ภายหลังเริ่มบังคับใช้มาตรฐานใหม่ของการประกันภัยสุขภาพ ส่งผลให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยในการรับประกันจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

Year of Resilience towards Sustainable Growth ปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

   แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเปราะบาง แต่ก็ได้ผ่านพ้นแรงกระแทกใหญ่ๆ ไปแล้ว จึงกลายเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาส เปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้นประสิทธิภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

   โดยปีนี้ถือเป็น Year of Resilience ที่องค์กรจะสะท้อนกลับไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะกลับไปสู่จุดที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม ผ่านการเรียนรู้จากวิกฤติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น

   โดยยึดหลักสร้าง “ดุลยภาพ” ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ (ESG) โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พร้อมมุ่งทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

   ในปี 2566 นี้ กรุงเทพประกันภัย ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโตที่ร้อยละ 12.5 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 13,096 ล้านบาทหรือเติบโต 20%

   และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor ประมาณ 16,904 ล้านบาท หรือสัดส่วนมอเตอร์และนอนมอเตอร์ ที่ 43: 57

   โดยคาดว่า Loss Ratio ในปีนี้จะอยู่ที่ 52-53% ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพประกันภัยสามารถกลับมาทำกำไรได้ที่ 3,500 ล้านบาท โดยสัดส่วนกำไรจากการรับประกันภัยจะอยู่ที่ 60% หรือ 2,400 ล้านบาท และกำไรจากการลงทุนที่สัดส่วน 40% ด้วยกลยุทธ์ ที่แตกต่างและความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริการให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้ 

             

พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ “ให้มากกว่า” เเละความคุ้มครอง “พิเศษมากขึ้น”

   ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างรับผิดชอบ ปรับกระบวนการคิดและการออกแบบความคุ้มครองให้สอดคล้องกับบริบทสังคมยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนเเปลงอยู่ตลอดเวลา 

  • แผนประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special

   จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภครัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและตัดสินใจเลือกทำประกันภัยจนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

   บริษัทจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคผ่านความคุ้มครองที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และคุ้มค่าในราคาที่เหมาะสมกับสภาวะค่าครองชีพปัจจุบัน

   ซึ่งนอกจากจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลูกเห็บ และลมพายุ รวมถึงคุ้มครองทั้งตัวรถ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก

   ล่าสุดกับความพิเศษที่มากขึ้นด้วยการบวกเพิ่มความคุ้มครองความเสียหายจากการพลิกคว่ำหรือตกข้างทาง และพิเศษยิ่งขึ้นกับความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการชน เช่น หินกระเด็นใส่ กิ่งไม้หล่นใส่ หรือกระทบกับวัตถุต่างๆ เป็นต้น

   ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special ของกรุงเทพประกันภัยถือเป็นเจ้าเเรกในตลาดประกันวินาศภัยไทยที่เพิ่มความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ โดยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 7,300 บาท 

  • แผนประกันภัยรถยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

   กระเเสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาเเรงที่สุดในช่วงนี้ เห็นได้ชัดจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ปี 2565 ที่มีจำนวนกว่า 9,729 คัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 402.8 จากปี 2564

   ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งเเวดล้อมแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา

   บริษัทได้รับประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ซ่อมห้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ได้กระแสตอบรับที่ดีและมีจำนวนผู้ทำประกันภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความไว้วางใจในความมั่นคง คุณภาพการบริการ

   การดูแลเอาใจใส่และอู่ซ่อมที่มีมาตรฐาน และความคุ้มครองแบบครบวงจร และครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าถึง 33 รุ่นจาก 20 แบรนด์ชั้นนำ ซึ่งการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัทนั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

   โดยปัจจุบันมียอดสะสม (งานใหม่รวมต่ออายุ) ราว 2,000 คัน เป็นเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 100 ล้านบาท (ณ มี.ค. 66) และคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรวมไม่ต่ำกว่า 120-140 ล้านบาท

   โดยบริษัทมีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่รับประกันภัยอย่างต่อเนื่องตามความต้องการและรูปแบบความเสี่ยงภัย โดยได้เตรียมความพร้อมด้านบริการต่างๆ

   ทั้งด้านสินไหมทดแทนยานยนต์ การสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าแก่ฝ่ายรับประกันภัย รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้แก่อู่ในสัญญาเพื่อเสริมศักยภาพในการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเชี่ยวชาญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า 

  • แผนประกันภัยที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

   จากวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรุงเทพประกันภัยจึงมีความตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ให้เหมาะสมกับผู้บริโภคและสอดคล้องกับความเสี่ยงในการทำกิจกรรมต่างๆ

   ในรูปแบบ Personalized Insurance ที่มีความเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายให้มากที่สุด โดยก่อนหน้านี้ มีแผนประกันภัย 3 โรคกวนใจ คุ้มครองการเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคร้ายจากยุง

   ตามด้วยแผนประกันภัยไซเบอร์ และประกันภัยออฟฟิศซินโดรมที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และวัยทำงาน ล่าสุดเตรียมเสนอเเผนประกันภัยสุขภาพ + จิตเวช ท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่ไม่แน่นอน เปราะบางเเละมีเเรงกดดันมากขึ้น

   จากข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ปี 2564 ระบุว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น

   บริษัทจึงมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจของคนในสังคมผ่านการเพิ่มความคุ้มครองด้านจิตเวชเข้ามาในเเผนประกันภัยสุขภาพเดิม ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล หรือค่าตรวจรักษาอาการของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ

   หรือพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายได้ในช่วงกลางปีนี้

   นอกจากนี้ยังมีแผนประกันภัยนักดำน้ำ ที่จะสร้างความอุ่นใจให้กับกลุ่มนักดำน้ำ ทั้งผู้ที่เป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่นในไทย ซึ่งความคุ้มครองได้ออกแบบมาเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ของนักดำน้ำ

   ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาพยาบาลฉุกเฉิน เงินชดเชยต่างๆ เช่น อุปกรณ์ดำน้ำเสียหาย การยกเลิกโปรเเกรมท่องเที่ยวดำน้ำ โดยมีให้เลือกทั้งเเบบรายทริป (ตามจำนวนวันที่เดินทาง) เเละรายปี (สูงสุด 30 วันต่อการเดินทางในเเต่ละครั้ง)

เพิ่มศักยภาพการบริการ “รวดเร็วเเละประทับใจมากยิ่งขึ้น”

   กรุงเทพประกันภัย มุ่งยกระดับการบริการที่ตอบโจทย์ด้านความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ทุกที่ ทุกเวลาให้แก่ลูกค้าและคู่ค้า เพื่อส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น ดังนี้ 

  • อู่ชวนซ่อม

   เพื่อยกระดับอู่ซ่อมในสัญญาที่มีมากกว่า 580 แห่ง ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงได้ต่อยอดความสำเร็จของโครงการอู่ชวนซ่อมที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้ามายาวนานกว่าทศวรรษ

   โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาอู่ซ่อมในสัญญาของกรุงเทพประกันภัยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าได้พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ

   โดยอู่ชวนซ่อมที่ได้รับคะแนนในระดับสูงนั้นมาจากการประเมินความพึงพอใจหลังการซ่อมจากลูกค้าตามเกณฑ์การประเมินต่างๆ ใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ คุณภาพการซ่อม, การให้บริการที่ดี, การส่งมอบรถตรงเวลา, ความสะอาดหลังซ่อม

   และการจัดเตรียมสถานที่ห้องรับรองที่สะอาดและสะดวกสบาย ซึ่งอู่ชวนซ่อมได้มอบบริการพิเศษ เช่น มีบริการนัดหมาย, ทำความสะอาดภายนอกและภายใน

   รวมถึงบริการขัดสีให้หลังซ่อมเสร็จ เป็นต้น สำหรับโครงการอู่ชวนซ่อมจะมีการขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในทุกพื้นที่ เเละเป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอู่ในสัญญาทั้งหมดให้เป็นอู่ชวนซ่อม 

  • ปรับลดระยะเวลาการจ่ายค่าซ่อมอู่ในสัญญาภายใน 3 วันทำการ ส่งผลให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำรถเข้าซ่อม

   จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้อู่ในสัญญาซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัทฯ หลายแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน (Cash Flow)

   ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อู่ในสัญญาสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น และบริการลูกค้าให้ได้รับการจัดซ่อมที่รวดเร็วและมีคุณภาพ พร้อมตอกย้ำการเป็นบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง

   บริษัทได้มีการปรับเร่งระยะเวลาการจ่ายค่าซ่อมให้กับอู่เหลือเพียง 3 วันทำการเท่านั้น จากเดิมที่บริษัทฯ ดำเนินการจ่ายภายในระยะเวลา 5 วันทำการ ซึ่งถือว่ารวดเร็วอย่างมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาการจ่ายโดยเฉลี่ยในตลาดประกันภัยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15-30 วันทำการ 

  • อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าประกันภัยรถยนต์ ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD)

   เพื่อเเบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย พร้อมอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ลูกค้าและคู่กรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ และเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา

   ซึ่งบริษัทจะเริ่มนำร่องกับโรงพยาบาล 50 คู่สัญญาหรือกว่า 150 แห่ง ที่มีการทำจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นประจำ จากนั้นจะขยายไปถึงกลุ่มโรงพยาบาลคู่สัญญาอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

24 มีนาคม 2566

ผู้ชม 1147 ครั้ง

Engine by shopup.com