สถิติ

71335903

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตั้งเป้ารายได้รวม 5 ปี 100,000 ลบ.    

   ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตั้งเป้ารายได้รวม 5 ปี 100,000 ลบ.

   อัพ!งบประมาณลงทุนแตะ 68,500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

 

   ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป โชว์ผลงานโดดเด่น ปี 2565 พร้อมมองอนาคตสดใส โดยบริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม และส่วนแบ่งกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 30

   งัดห้ากลยุทธ์ธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ารายได้รวม และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 5 ปี (2566-2570) ที่ 100,000 ล้านบาท

   พร้อมอัดฉีดงบลงทุนเพิ่มจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 68,500 ล้านบาทภายใน 5 ปี ขณะที่ยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA สูงกว่าร้อยละ 40 และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD) ต่ำกว่า 1.2 เท่า

   ในปี 2566 นี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกาศกลยุทธ์ธุรกิจไว้ 5 ข้อ ดังนี้

  • รักษาความเป็นที่หนึ่งในประเทศด้วยการครองอันดับหนึ่งในทุกธุรกิจขององค์กร
  • เร่งการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยเน้นที่ประเทศเวียดนาม
  • ใช้นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
  • สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ โดยเน้นแนวคิดด้านความยั่งยืนเป็นหลัก
  • นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การเป็น Technology Company

   นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังได้ริเริ่มภารกิจ Mission to the Sun” ซึ่งประกอบด้วย 9 โครงการ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ รวมถึงเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

   และเสริมสร้างการพัฒนาองค์กร และบุคลากรของบริษัท โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ Green Logistics, Digital Assets (Metaverse), Digital Health Tech, Circular เป็นต้น 

ภาพรวมความสำเร็จอันโดดเด่นในปี 2565

   ในปีที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ตอกย้ำสถานะความเป็นผู้นำของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัลโซลูชัน ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม 

  • ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์: ภายหลังจากการเปิดตัวโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 บนเนื้อที่รวม 400 ไร่ บริษัทได้มีการลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ร้อยละ 68 ของเฟส 1 หรือ 130,000 ตารางเมตร กับลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่หลายราย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) และผู้เช่าหลักรายอื่นๆ ในภาคสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในปี 2565 ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์มีการเปิดโครงการและลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น จำนวน 206,000 ตารางเมตร นอกจากนี้บริษัทยังได้ทำสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมจำนวน 135,000 ตารางเมตร ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหาร ทั้งหมด 2,720,000 ตารางเมตร. 
  • ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์: นอกเหนือจากการขายที่ดินขนาด 600 ไร่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ให้กับบีวายดีแล้ว ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 3 ของบริษัทในประเทศเวียดนาม ที่จังหวัดกว๋างนาม โดยมีขนาดพื้นที่ 2,500 ไร่ ตั้งเป้าดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ เครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โดยตลอดปี 2565 บริษัทมียอดขายที่ดินรวม 1,860 ไร่ (1,754 ไร่ในประเทศไทย และ 106 ไร่ในประเทศเวียดนาม) สูงกว่ายอดขายที่ดินรวมในปี 2564 ที่ 855 ไร่  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ
  • ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์: บริษัทได้เซ็นสัญญากับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่รวม 32,200 ตารางเมตร ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 (WHA ESIE 1) ซึ่งนับเป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมียอดจำหน่ายน้ำและบริหารน้ำรวม 145 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 683 เมกะวัตต์
  • ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล: ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้เปิดตัว WHAbit แอปพลิเคชันด้านเฮลธ์แคร์ เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพ และการแพทย์ทางไกล โดยประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช ในปี 2565 บริษัทเดินหน้าทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลผ่านโครงการต่างๆ กว่า 32 โครงการเพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company

                    

   นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 ได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติ มีการเซ็นสัญญาดีลใหญ่ๆ

   และโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทำให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไป

   ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจของดับบลิวเอชเอ ทำให้มั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะสามารถก้าวไปสู่การเป็น Technology Company ภายในปี 2567 และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน 

ภาพรวมอนาคตที่สดใสของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป 

  • ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ตั้งเป้าขยายธุรกิจในประเทศไทย และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในเวียดนาม โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติที่นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และคำนึงถึงความยั่งยืน

   ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีเป้าหมายในการตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า ในพื้นที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ ได้แก่ กรุงเทพฯ บางนา-ตราด และจังหวัดต่างๆ ในเขตพื้นที่อีอีซี

   ตลอดจนขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ไปยังจังหวัดสำคัญๆ และพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีความหลากหลาย

   ไม่ว่าจะเป็น อาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit คลังสินค้าทั่วไป ไปจนถึงคลังสินค้าขนาดเล็ก ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ได้อีกด้วย

   นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีแผนที่จะสร้างการเติบโต โดยตั้งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า  ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และเฮลธ์แคร์

   ผ่านการประสานความร่วมมือกับ Key Player ระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ อาทิ Quantum Computing, Internet of Things (IOT), Data Analytics เป็นต้น

   สำหรับธุรกิจ Office Solutions ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ เดินหน้าขยายโครงการอาคารสำนักงานอีกหลายแห่งบนทำเลที่ดีเยี่ยมในกรุงเทพฯ โดยล่าสุด โครงการ WHA KW S25 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2566 และเตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้

   ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีโครงการอาคารสำนักงานจำนวน 6 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 100,000 ตารางเมตร เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันและการออกแบบที่เหนือชั้น

   ในปี 2566 บริษัทคาดว่าจะมีการส่งมอบโครงการใหม่และสัญญาใหม่ คิดเป็นพื้นที่รวม 200,000 ตารางเมตร (165,000 ตร.ม. ในประเทศไทยและ 35,000 ตร.ม. ในเวียดนาม)

   ให้แก่กลุ่มลูกค้า อาทิ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคการค้าปลีก โดยคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะสูงถึง 2,900,000 ตารางเมตร

   ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ยังได้ตั้งเป้าขายสินทรัพย์พื้นที่ 142,000 ตารางเมตรให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 3,250 ล้านบาท 

  • บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะตอกย้ำความเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเน้นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศขั้นสูง และโครงการอุตสาหกรรมมูลค่าสูง     

   นางสาวจรีพร กล่าาวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยและเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ มีพื้นที่ในครอบครองทั้งหมด 71,000 ไร่ โดยมีพื้นที่พร้อมขายกว่า 4,000 ไร่ ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทยจำนวน 12 แห่ง

   ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (1,280 ไร่) ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และยังมีนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่

   นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569

   นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (570 ไร่) และการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (400 ไร่)

   นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ยังขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ การจัดหาก๊าซไนโตรเจนโดย บริษัท บีไอจี ดับบลิวเอชเอ อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG WHA

   ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ซึ่งปัจจุบันให้บริการที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และจะขยายการให้บริการไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงก๊าซอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ด้วย

   ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทได้ให้บริการไฟเบอร์ออพติคใต้ดิน (FTTx) ในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยจำนวน 11 แห่ง และให้บริการเช่าเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับ-กระจายสัญญาณเครือข่าย 5G ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง

   โดยคาดว่าจะขยายให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้แก่ AWN, True และ Dtac

   สำหรับประเทศเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ ในจังหวัดหลักๆ ของเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

   โดยเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1-เหงะอาน ได้ดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 ขนาด 900 ไร่ แล้วเสร็จ พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพสูงสุด และได้ปล่อยเช่าให้แก่ลูกค้าจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

   การแปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กว่าร้อยละ 77 ของพื้นที่เฟส 1 และด้วยสภาวะอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมสูง บริษัทจึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟสที่ 2 พื้นที่ขนาด 2,215 ไร่

   นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง อันได้แก่ เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone-Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่

   ซึ่งจังหวัดทัญฮว้า เป็นจังหวัดที่มีประชากรกว่า 3.6 ล้านคน มากเป็นอันดับสามของเวียดนาม มีกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หรือต้นปี 2568 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone–Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่

   ซึ่งจะได้ประโยชน์จากที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลางของภาคกลางอย่างจังหวัดดานังและจังหวัดกว๋างหงาย โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ในปี 2569 หรือ 2570 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังจากนั้น

   จากความสำเร็จของยอดขายที่ดินทั้งในประเทศไทยและเวียดนามในปี 2565 ที่สูงถึง 1,740 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2564 และด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อดับบลิวแอชเอ กรุ๊ปบริษัทจึงคาดว่ายอดขายที่ดินในปี 2566 ทั้งในประเทศไทย และเวียดนามจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ายอดขายที่ดิน ไว้ที่ 1,750 ไร่ 

  • WHAUP มุ่งต่อยอดธุรกิจสาธารณูปโภคให้เติบโตต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ชูโซลูชันนวัตกรรมและความยั่งยืน

   ในส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม

   โดยในปี 2565 บริษัทมีการจัดการน้ำประปาและน้ำเสียสูงถึง 145 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรวมปริมาณน้ำอุตสาหกรรมและการบำบัดน้ำเสียในประเทศเวียดนามจำนวน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมูลค่าเพิ่ม (Premium Clarified Water and Demineralized Water) จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร

   โดยในปี 2566 ปริมาณน้ำประปาและการจัดการน้ำเสียทั้งหมดคาดว่าจะสูงถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเพิ่มจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ใช้อุตสาหกรรมรายใหญ่ ที่ได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำในปี 2565 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตร

   และจากการที่บริษัทได้เริ่มดำเนินการโรงผลิตน้ำมูลค่าเพิ่ม 2 แห่ง เพื่อจัดส่งน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ของกัลฟ์ 2 ราย และน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย

   โดยมีกำลังการผลิตน้ำรวม 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

   โดยมีกำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเริ่มก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีกำลังการผลิตรวม 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

   WHAUP มีโครงการเพื่อจัดหาน้ำดิบทดแทนเพื่อความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำถึง 2 โครงการ กำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรกมีขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง

   ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE4) จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

   ทั้งนี้ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคของ WHAUP ในประเทศเวียดนาม ซึ่งให้บริการอยู่ 3 โครงการนั้น มีการเติบโตของการจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปี 2565 หรือเท่ากับ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องมาจากการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่กว้างขึ้น และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566

  

   นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจด้านพลังงาน WHAUP มุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในประเทศไทย เวียดนาม และสำรวจหาตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ บริษัทมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

   พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ กับธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ไฮโดรเจน การซื้อขายคาร์บอนและการใช้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

   ในปี 2566 WHAUP ตั้งเป้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 847 เมกะวัตต์ เพิ่มจาก 683 เมกะวัตต์ในปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยพลังงานสิ้นเปลือง (Conventional Power) 547 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 133 เมกะวัตต์ และพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม (Waste to Energy) อีก 3 เมกะวัตต์

   ทั้งนี้บริษัทยังคงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 300 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2566 อีกด้วย 

   อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ WHAUP ได้ร่วมกับ ปตท. และ Sertis พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading

   โดยมีชื่อว่า Renewable Energy Exchange ("RENEX") ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงานของผู้ใช้ในอุตสาหกรรม 

   โครงการดังกล่าวได้มีการเปิดตัวในปี 2565 และมีลูกค้าชั้นนำกลุ่มแรกเข้าร่วมจำนวน 54 ราย ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งของดับบลิวเอชเอ ได้แก่ WHA ESIE 1, WHA ESIE 2 และ ESIE

   นอกจากนี้ WHAUP ยังตั้งเป้าที่จะศึกษาและพัฒนาให้สามารถเกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้อีกด้วย โดยเบื้องต้นได้ลงทะเบียนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

   กับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ I-REC หรือใบรับรองสีเขียวที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน I-REC 

  • ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จะยังคงเป็นผู้นำโครงการการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลภายในองค์กร ช่วยสร้างเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ประสิทธิภาพ การเข้าถึง และความปลอดภัยด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จะทำงานร่วมกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการนำเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและดึงดูดลูกค้ารายใหม่ ตัวอย่างเช่น แดชบอร์ดตรวจสอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ตรวจจับประสิทธิภาพ เครื่องมือวิเคราะห์ ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เป็นต้น

   ภายหลังจากการเปิดตัวในปี 2565 แอปพลิเคชัน WHAbit หรือโซลูชันสำหรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกำหนดเปิดตัวเวอร์ชันที่สองในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ด้วยฟีเจอร์การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) และคำแนะนำส่วนบุคคล

   นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังวางแผนที่จะเปิดตัว Meta W ซึ่งเป็นเมตาเวิร์สด้านอุตสาหกรรมรายแรกที่ได้รับการออกแบบเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า สร้างโอกาสใหม่ๆ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในยุคดิจิทัล

   ทั้งนี้ Meta W จะนำเสนอ Digital Twin โดยลูกค้าสามารถเข้าไปสัมผัส และมีประสบการณ์เสมือนจริงทั้งในรูปแบบของกิจกรรม การดำเนินงาน โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และการตรวจเช็คข้อมูลต่างๆ

  และในอนาคต ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล มีแผนที่จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกระบบนิเวศของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

   ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ปรับเป้างบลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท เป็น 68,500 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570

   โดยเป็นงบลงทุนสำหรับ 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้แก่ โลจิสติกส์ จำนวน 17,000 ล้านบาท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำนวน 29,000 ล้านบาท WHAUP จำนวน 18,500 ล้านบาท และดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จำนวน 4,000 ล้านบาท ด้วยเป้าหมายรายได้รวมที่ 100,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

   “WHA มองอนาคตปี 2566 ด้วยความมั่นใจในเชิงบวก ในขณะที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปกำลังก้าวเข้าใกล้การเป็น Technology Company มากขึ้น ก็ยังคงส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ ให้กับทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยที่ยังเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

   ทั้งนี้ได้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 และมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050)

   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของดับบลิวเอชเอ รวมถึงลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ และท้ายที่สุดคือสังคมไทยโดยรวม” นางสาวจรีพร กล่าวสรุป

01 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้ชม 498 ครั้ง

Engine by shopup.com