สถิติ

66720325

EIC เตือน!ปี66 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปรับลดจีดีพีเหลือ 3.4%    

หมวดหมู่: การเงิน

   EIC เตือน!ปี66 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปรับลดจีดีพีเหลือ 3.4%

   Zero-Covidจีนฉุดส่งออก-3สูงกระทบฟื้นตัว-ลุ้น!ท่องเที่ยวขับเคลื่อน      

  

   EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% (เดิม 3.0%) จากแรงส่งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น

   สำหรับปี 2566 EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็น 3.4% (เดิม 3.7%) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น บางประเทศหลักจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้การส่งออกและการลงทุนของไทยชะลอลงตาม

   อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งขึ้น โดย EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28.3 ล้านคนในปี 2566

   จากความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูงและจีนมีแนวโน้มทยอยผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศเติบโตดีกลับไปใกล้ระดับก่อน COVID-19 ส่งผลให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง

   รวมถึงการบริโภคขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ยังเปราะบาง สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยลดลงได้ช้า

   และยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายอยู่ที่ 6.1% และ 3.2% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อเนื่องไปเงินเฟ้อพื้นฐาน

   ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนในปีนี้ และจะชะลอลงมากในปี 2566 ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลงช้า วิกฤติพลังงานยืดเยื้อและนโยบายการเงินเข้มงวดทั่วโลก

   บางประเทศหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ เช่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566  

   EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.9% และปี 2566 ลดจาก 2.7% มาอยู่ที่ 1.8% โดยในกรณีฐาน EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หลายประเทศยังเติบโตได้

   เช่น เศรษฐกิจจีนจะฟื้นดีขึ้นตามการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจทำให้เกิดกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรง หรือเงินเฟ้อกลับมาเร่งสูงจนทำให้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น

   นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อโลกจะยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อบางประเทศผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดย EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศหลักจะยังสูงกว่าเป้าหมายธนาคารกลางอีก 1-2 ปี เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มฝังลึก รวมถึงอุปสงค์บริการที่จะเพิ่มขึ้น

   หลังอุปสงค์สินค้าคงทนทยอยปรับลดลงกลับสู่ภาวะปกติ ธนาคารกลางจึงจะยังคงทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวในปีหน้า โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่จะยังคงดอกเบี้ยสูงอีกระยะ จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในเป้า

   สำหรับนโยบายการคลังทั่วโลกจะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง และเน้นความยั่งยืนการคลังมากขึ้นหลังจากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤติ COVID-19

   นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนสูงขึ้น สภาพคล่องในตลาดการเงินและภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้นมาก

   นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) มากขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกลดลงมาก ซึ่งจะกระทบความมั่งคั่งและการบริโภคในระยะข้างหน้า

  

   ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า EIC มองเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่ฟื้นไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคจะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

   ขณะที่แรงส่งจากการส่งออกและการลงทุนจะชะลอลงมาก ค่าครองชีพและต้นทุนภาคธุรกิจจะยังสูงอยู่ ทำให้รายได้ครัวเรือนบางกลุ่มโตไม่ทันรายจ่าย และธุรกิจฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน เห็นได้จากจำนวนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 อยู่ที่ 2.1 ล้านครัวเรือนหรือเพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

   ขณะที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่างกัน กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวการบริโภคหรือสอดรับกับเทรนด์โลกจะฟื้นตัวเร็ว แต่บางกลุ่มธุรกิจจะยังมีความเสี่ยงและฟื้นตัวช้าจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือได้รับผลกระทบจากเมกะเทรนด์

   นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งความไม่แน่นอนภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตไม่สดใสนักในปี 2566 แม้ในกรณีฐาน EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีไม่มาก โดยจะกลับสู่ระดับศักยภาพได้ ณ สิ้นปี 2567

   แต่หากธนาคารกลางหลักของโลกขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่ากรณีฐานอีก 100 BPS ในปี 2566 เช่น Fed ขึ้นดอกเบี้ยถึง 5.75–6.00 % จะเป็นปัจจัย Trigger ให้เกิดกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย

   ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแทบไม่ขยายตัว โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในกรณีนี้จะเพิ่มขึ้นเกิน 80% ในปี 2566 อย่างไรก็ตามภาครัฐยังมีความสามารถเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนดังกล่าวที่อาจมากระทบเศรษฐกิจไทย แม้พื้นที่การคลัง จะเหลือน้อยลงหลังผ่านวิกฤติ COVID-19 มาได้

   "ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกดดันการส่งออกและการลงทุน อีกทั้งนโยบาย Zero-Covid ของจีนกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออก

   อีกทั้งเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง และหนี้สูงกดดันการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุน" ดร.ฐิติมา กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   นอกจากนั้น EIC มองว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 25 BPS สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว

   โดย ธปท. จะประเมินจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าให้มั่นใจว่า Policy normalization ทั้งนโยบายการเงินและมาตรการการเงินที่จะทยอยหมดอายุในปี 2566

   จะไม่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วมากจนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง จากนั้นจึงค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งเป็น 2.75% ในครึ่งปีหลังของปีหน้าต่อไป

   สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สาเหตุหลักจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ช้าลง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงที่จะปรับดีขึ้น

   นอกจากนี้เงินบาทจะยังได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทย รวมถึงเงินเฟ้อไทยที่จะลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ

   EIC จึงประเมินว่า เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36-37 บาท ณ สิ้นปีนี้ และจะทยอยแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาท ณ สิ้นปี 2566

   “เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป คือ (1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกดดันการส่งออกและลงทุน (2) นโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยังไม่แน่นอนกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออก 
   (3) เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง หนี้สูง กดดันการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง และ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน” ดร.ฐิติมา กล่าวสรุป

28 พฤศจิกายน 2565

ผู้ชม 956 ครั้ง

Engine by shopup.com