"บลูบิค" กางแผน 3 ปี รุกปั้นพอร์ตโฟลิโอโตมากกว่า 70%
"บลูบิค" กางแผน 3 ปี รุกปั้นพอร์ตโฟลิโอโตมากกว่า 70%
"บลูบิค" กางแผน 3 ปี รุกปั้นพอร์ตโฟลิโอโตมากกว่า 70%
ปักธง!โกอินเตอร์-M&Aดันสัดส่วนรายได้ตปท.แตะ15-20%
บลูบิค เปิดเกมรุกปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เปิดแผน 3 ปี เร่งปั้นพอร์ตโฟลิโอ ติดสปีดขยายธุรกิจและบริการสู่ตลาดโลกเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด มั่นใจโตไม่ต่ำกว่า 70% ต่อปี พร้อมเป็น Truly End-to-End Digital Transformation Partner
บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร ปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ปักธงเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 70% ด้วยแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีที่เน้นเดินเกมเร็วขยายธุรกิจผ่าน บลูบิค พอร์ตโฟลิโอ
ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Transformation Consulting Services & Digital Platform Portfolio)
ที่มุ่งเน้นการเติบโตแบบ Organic Growth ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้จากกลุ่มบริการหลักที่มีอยู่ ควบคู่กับการสร้างการเติบโตแบบ Inorganic Growth ผ่านการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) กิจการร่วมค้า (Join Venture: JV) และการจัดตั้งบริษัทย่อย
เพื่อเจาะตลาดใหม่ให้สามารถนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตอกย้ำเจตนารมณ์การเป็นพันธมิตรด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันครบวงจรให้กับองค์กรธุรกิจอย่างแท้จริง หรือ Truly End-to-End Digital Transformation Partner
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่นี้ นอกจากจะทำให้บริการของบริษัทครอบคลุมทุกแง่มุมของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแล้วยังสามารถตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงใหญ่
ดังนั้นนับจากนี้ทิศทางการเติบโตของบริษัทจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในมิติของการสร้างรายได้และการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งภายใต้กลยุทธ์การเติบโตนี้จะประกอบไปด้วย 4 แผนงานหลัก ดังนี้
- ขยายธุรกิจบริการหลักให้ครบวงจรเป็น Truly End-to-End Services มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทุกมิติความต้องการในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของลูกค้า ซึ่งบริษัทจะ มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการให้บริการควบคู่กับการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มบริการหรือเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญหลังจากเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ระบบดิจิทัล (Post Digital Transformation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตเชิงรายได้ให้กับบริษัทอีกด้วย โดยล่าสุดได้มีการขยายบริการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Solution Implementation Services) เนื่องจากองค์กรธุรกิจเริ่มเห็นความสำคัญในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่ไม่น้อยไปกว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ฉะนั้นจึงจัดตั้งบริษัท บลูบิค ไททันส์ จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว
- ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นเทรนด์แห่งโลกอนาคต เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ผ่านการให้บริการที่เกี่ยวกับดิจิทัลแพลตฟอร์มและไอทีโซลูชันที่สามารถรองรับความต้องการและเทรนด์ธุรกิจใหม่ เพื่อปูทางสู่การสร้างรายได้แบบประจำ (Recurring Income) และขยายฐานลูกค้าที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ โดยบริษัทเห็นโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้ามาสนับสนุนกการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและเทรนด์การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ทำให้บริษัทได้มีการอนุมัติจัดตั้ง บริษัท บลูบิค เน็กซัส จำกัด เพื่อรุกธุรกิจด้านพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลและบล็อกเชนโซลูชัน (Digital Platform and Blockchain Solutions)
- ขยายธุรกิจต่างประเทศ ตอกย้ำมาตรฐานการให้บริการระดับสากล เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของบริษัทเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่และมีความต้องการในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการรุกตลาดต่างประเทศนี้ บริษัทจะใช้จุดแข็งด้านศักยภาพของบุคลากรไอทีผนวกกับข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการให้บริการที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งล่าสุดมีการขยายธุรกิจบริการด้านพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery) ไปยังตลาดยุโรป ผ่านการจัดตั้ง บริษัท บลูบิค (สหราชอาณาจักร) จำกัด ที่ประเทศสหราชอาณาจักร และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศเพิ่มเติม
- สร้างการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) และกิจการร่วมค้า (JV) มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทจะโฟกัสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถต่อยอดด้านบริการและธุรกิจ (Synergy) ซึ่งแผนการเติบโตนี้ยังเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนแผนงานอื่นที่ได้กล่าวมาข้างต้นและเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจกับพันธมิตรในอนาคตเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนจัดตั้ง บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บลูบิค และ บริษัท ปตท. นำ้มันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เมื่อปีที่ผ่านมา
“จากแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจทั้ง 4 ด้าน ผนวกกับจุดแข็งของบริษัทที่ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านธุรกิจและเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech)
ที่ครอบคลุมตั้งแต่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology Implementation) การพัฒนาซอฟต์แวร์และดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Software & Digital Platform Development)
รวมถึงข้อได้เปรียบจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับและมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีชาวต่างชาติจำนวนมาก ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถเดินตามแผนเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนได้อย่างแน่นอน” นายพชร กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
ในขณะเดียวกันการเป็น “Truly End-to-End Digital Transformation Partner” ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางธุรกิจของบลูบิค โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่องค์กรธุรกิจไทยและต่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้บลูบิคจึงไม่หยุดพัฒนาบริการ สรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถพลิกโฉมทางธุรกิจ สร้างคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีตลอดจนสร้างรายได้และกำไรได้อย่างต่อเนื่องในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในที่สุด
นอกจากนี้บริษัทได้คาดการณ์ว่าผลประกอบการปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่นไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งขณะนี้บริษัทมียอดรอรับรู้รายได้จากแบ็คล็อก (Backlog) สะสมแล้ว 448 ล้านบาทโดยจะมียอดรับรู้รายได้ของปีนี้ถึง 226 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 บริษัทมีรายได้รวม 243.19 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่มีรายได้ 126.9 ล้านบาท หรือเติบโต 92%
และมีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 105% โดยมีสัดส่วนการรับรู้รายได้แบบประจำ (Recurring Income) ราว 46% ของรายได้รวม ในขณะเดียวกันผลประกอบการรายได้ของปี 2564 อยู่ที่ 303 ล้านบาท
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ Website : www.bluebik.com หรือติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่ Facebook Page : Bluebik Group และ LinkedIn : Bluebik Group
02 กันยายน 2565
ผู้ชม 395 ครั้ง