สถิติ

71405191

"ไทยประกันชีวิต" กดปุ่ม!เทรด  

   "ไทยประกันชีวิต" กดปุ่ม!เทรด

   โชว์มูลค่าหลักทรัพย์183,200ลบ.

  

   บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) "ไทยประกันชีวิต" ส่งหุ้น TLI เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นวันแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565

   โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Ticker) ว่า "TLI" ด้วยราคา IPO ที่ 16.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 37,067 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565

   และเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย รวมทั้งยังมีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดสูงในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากปี 2543

   และมีโอกาสที่จะได้รับการจัดเข้าไปรวมอยู่ในดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยเกณฑ์ Fast-Track ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่หุ้นของ TLI เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

                          

   นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นก้าวสำคัญของไทยประกันชีวิต เมื่อหุ้น TLI ซึ่งเป็นหุ้น IPO ในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้าทำการซื้อขายเป็นวันแรก

   การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้ไทยประกันชีวิตสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งใจไว้ คือ การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน

   ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มิติใหม่ เสริมสร้างศักยภาพอันแข็งแกร่งรองรับการเติบโตในอนาคต โดยกำหนด Business Purpose สู่การเป็น Life Solutions Provider

   มุ่งสู่การเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เพื่อสร้างความมั่นคงในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของคนไทย

   โดย ไทยประกันชีวิต มีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้ในการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)

   และส่งเสริมการตลาด ผ่านนวัตกรรมและโซลูชันเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการและดูแลลูกค้าได้อย่างครบวงจร การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ

   ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยเชื่อว่านักลงทุนจะเห็นถึงศักยภาพของ TLI และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง และสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

  

   "การที่ไทยประกันชีวิตลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลก็เพื่อสร้างกรมธรรม์เพื่อตอบสนองความต้องการรายบุคคล ตามไลฟ์ สไตล์ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

   รวมถึงพัฒนา Big Data โดยนำข้อมูล(Data) ดังกล่าวมาประมวลผลและบริหารจัดการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้า นอกจากนั้นยังพัฒนา Super App แพลตฟอร์มและเครื่องมือในการขายของตัวแทนที่เป็นช่องทางหลักกว่า 64,000 คน เพื่อบริหารลูกค้าและทีมงานอย่างครบวงจร" นายไชย กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า    

   ทั้งนี้ในวันแรกของการเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยประกันชีวิตมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 11,450 ล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

   จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,316.7 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนรวมทั้งสิ้น 37,067 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) ประมาณ 183,200 ล้านบาท ที่ราคา IPO

   ภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครอบครัวไชยวรรณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยถือหุ้นร้อยละ 65.60  และ Meiji Yasuda Life Insurance Company (MY) ถือหุ้นร้อยละ 15.00 (ภายใต้สมมติฐานว่าผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน)

   โดยไทยประกันชีวิตมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและหักสำรองตามที่กฎหมายและข้อบังคับที่บริษัทกำหนด

   โดยต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของบริษัทโดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)

   

   นางวรางค์ ไชยวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการประกันสุขภาพและความคุุ้มครองเป็นหลัก

   ในขณะที่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศก็จะส่งผลให้ตัวแทนสามารถทำงานได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นมากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์สะสมทรัพย์ก็มีการนำเสนอขายผ่านช่องทางช่องทางธนาคารเป็นหลัก

   ส่วนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลบวกต่อธุรกิจในการหาผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ลงทุน 400,000 ล้านบาทผลตอบแทนประมาณ 3% โดยเป็นการลงทุนในหุ้นสามัญสัดส่วน 13% 

   สำหรับทิศทางการลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจบันมีการร่วมทุนกับพันธมิตรในเมียนมาที่มีธนาคารในเครือ ซึ่งมาจากการแนะนำของผู้ถือหุ้นบริษัทคือเมจิ ยาสึดะ โดยลงทุนไปจำนวน 400 ล้านบาท ส่วนการลงทุนขยายธุรกิจไปประเทศอื่นๆ นั้นก็มองหาโอกาสหากมีพันธมิตรที่เหมาะสมตอไป

   นายวิญญู ไชยวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน)  กล่าวว่า สำหรับเงินทุนที่ได้ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งนำมาต่อสัญญาในช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ที่บริษัทมีพันธมิตรหลัก 2 แห่งมากว่า 10 ปี

   คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธนา จำกัดผมหาชน) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการต่อสัญญากันเป็นระยะสั้นและในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการต่อสัญญาเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมในการเป็นพันธมิตรต่อไป

   สำหรับการปรับตัวของผลิตภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมานั้นบริษัทได้มีการปรับพอร์ตสินค้าที่ไม่อิงกับอัตราดอกเบี้ยหรือไม่การันตีผลตอบแทนแต่อย่างใด เช่น ยูนิต ลิงค์ เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บริษัทออกสินค้าที่เป็นการการันตีผลตอบแทนให้กับลูกค้า ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยต่ำก็จะทำให้กำไรน้อย

25 กรกฎาคม 2565

ผู้ชม 525 ครั้ง

Engine by shopup.com