สถิติ

71414335

WHAUP รุกธุรกิจน้ำ-ไฟฟ้า เต็มสูบ!  

   WHAUP รุกธุรกิจน้ำ-ไฟฟ้า เต็มสูบ!

   เปิดแผนลงทุน-M&Aกว่า2,000ลบ.โต

              

   บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP) ลุยเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้ให้บริการ Smart Utilities and Green Power Solution ยกระดับการให้บริการด้านน้ำ-ไฟฟ้าแก่ลูกค้าทั้งใน-นอกนิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจร

   ด้าน CEO “สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ” มั่นใจกลยุทธ์ดังกล่าว ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นผู้นำการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต

   พร้อมหนุนรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 6,000 ล้านบาทในปี 2569 และรักษา EBITDA Margin ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%

   นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (“WHAUP”) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้า-ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ Smart Utilities and Green Power Solution

   สอดรับแผนกลยุทธ์การแสวงหาโอกาสการต่อยอดการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยจะเน้นการพัฒนาโซลูชั่น สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค รวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน

   เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะเป็น technology company รวมถึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอัตราการเติบโตในระยะยาวตามเป้าหมายที่ WHAUP วางไว้

   โดยตั้งเป้าว่าในปี 2569 บริษัทจะมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 6,000 ล้านบาท ภายใต้การยังคงรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA ในระดับสูงกว่าร้อยละ 50 จากการเติบโตของธุรกิจหลักทั้งน้ำและไฟฟ้า

   จากการขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสูงอาทิ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยจะมีการหาสินค้า และบริการ ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการในรูปแบบ One-Stop-Service

   ขณะเดียวกันบริษัทวางเป้าหมายการให้บริการในธุรกิจ Green Power เพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา WHAUP มีการลงทุนธุรกิจให้บริการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

   และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี อาทิ การติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับบริษัท พรินซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้า 19.44 เมกะวัตต์ ซึ่งนับว่าเป็นการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

   ส่งผลทำให้บริษัทมีความมั่นใจในการเป็นผู้ให้บริการในโครงการที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุน (M&A)

   ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และโครงการประเภท Green Field โดยการนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไปต่อยอดการลงทุนต่อไป

   ด้านนายอัครินทร์ ประเทืองสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ WHAUP กล่าวว่า การพัฒนาและดำเนินโครงการต่างๆ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรทั้งธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน

   ธุรกิจสาธารณูปโภค ในปีนี้ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวม 153 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเติบโต 13% จากปีก่อน ด้วยแนวโน้มการเติบโตของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ผนวกกับการขยายฐานลูกค้าภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

   โดยนอกจากจะจำหน่ายน้ำ Conventional ไม่ว่าจะเป็นน้ำดิบ หรือน้ำอุตสาหกรรมทั่วไปแล้ว WHAUP ยังเน้นไปที่การจำหน่ายน้ำประเภท Value-Added Product

   ไม่ว่าจะเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ที่ได้จากกระบวนการนำน้ำเสียมาบำบัด ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็น Product ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเช่นเดียวกัน

   โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 นี้ จะมีการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์สำหรับโรงผลิตน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าโรงไฟฟ้า SPP ของกลุ่ม GULF ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 1.4 ล้านลบ.ม. ต่อปี

   ส่วนการเติบโตนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอนั้นในปีที่ผ่านมาได้มีการเซ็นสัญญาร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับผลิตและจำหน่ายน้ำประเภท Value-Added Product ให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย

   โดยเฟสแรกที่มีกำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านลบ.ม. ต่อปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2565 นี้ ทั้งนี้นอกจากการลงทุนเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำแล้ว WHAUP ยังมีการลงทุนในการจัดหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกอื่นๆ

   อาทิ การขุดอ่างเก็บน้ำเพิ่ม เพื่อลดการพึ่งพาการจัดซื้อน้ำดิบจากผู้จำหน่ายหลัก รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำดิบด้วย โดยตั้งเป้าเพิ่ม capacity ของแหล่งน้ำดิบทางเลือกอีกอย่างน้อย 11 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

   ส่วนโครงการที่ประเทศเวียดนามนั้น ยังมีการขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในส่วนของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่1 ปี 2565

   หลังจากเฟสที่ 1 พัฒนาแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าภายในเขตอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโครงการประปา SDWTP และ Cua Lo ที่จะมีการลงทุนในส่วนของท่อเพิ่มเพื่อขยายการบริการแก่ลูกค้าเช่นกัน

   ธุรกิจด้านพลังงาน สำหรับเป้าหมายในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตรวมของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะสมแตะ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนสัญญารวมดังกล่าว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปีนี้ทั้งสิ้น 115 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือจะทยอย COD ในปีถัดไป 

   ในด้านของนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นบริษัทเดินหน้าเพื่อเตรียมการสู่อนาคตสำหรับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อาทิการพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ

   เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ หรือ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตร จาก บมจ.ปตท. “PTT”

   และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด “Sertis” เพื่อร่วมพัฒนาระบบ Trading Platform ภายใต้ชื่อว่า “RENEX” โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงาน

   ระหว่างผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

   ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการทดลองให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นภายในไตรมาส 3/2565  ซึ่งระบบการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว

   เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของ “WHAUP” เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader ในโครงการทดลองนำร่องดังกล่าวจำนวนมากกว่า 23 ราย

   บริษัทยังมีการนำ Battery Energy Storage System (BESS) หรือระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้า

   รวมถึงการศึกษาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid เพื่อยกระดับระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ในการต่อยอดธุรกิจ Renewable Energy และสร้าง Business Model ใหม่ให้กับบริษัท

   และยังเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ WHAUP นำพลังงานสะอาดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังสร้างความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าในอนาคตได้เป็นอย่างดี

   ขณะที่ นายประพนธ์ ชินอุดมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงิน WHAUP กล่าวตอกย้ำถึงศักยภาพความแข็งทางการเงินว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2565-2569) ที่ 10,000 ล้านบาท โดยเป็นงบลงทุนสำหรับปี 2565 ประมาณ 2,000 ล้านบาท

   แบ่งเป็นเงินลงทุนในธุรกิจน้ำ และไฟฟ้า ประมาณอย่างละครึ่ง โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากทั้งเงินกู้จากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ โดยล่าสุด ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวม 2,800 ล้านบาท

   ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี แม้ว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยในตลาดช่วงนี้จะค่อนข้างผันผวน โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) จำนวน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออก Green Bond ครั้งแรกของบริษัท

   ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหุ้นกุ้ของบริษัทได้รับการประเมิน Rating จาก TRIS ที่ระดับ A- “stable

   นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.9 เท่า ต่ำกว่าเพดานที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ที่ 2.5 เท่าค่อนข้างมาก ซึ่งนอกจากเป็นการสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินแล้วยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทที่สามารถกู้เงินเพิ่ม

   เพื่อรองรับการมองหาโอกาสในการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาโครงการใหม่ๆ (Green field) การเข้าซื้อกิจการ (M&A) การร่วมทุน (Joint Venture) การขยายการลงทุนในและนอกนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน

   เพื่อต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

26 มิถุนายน 2565

ผู้ชม 851 ครั้ง

Engine by shopup.com