"SMD" กำไรสุทธิ Q1/65 พุ่งกว่า 1,620.77%
"SMD" กำไรสุทธิ Q1/65 พุ่งกว่า 1,620.77%
"SMD" กำไรสุทธิ Q1/65 พุ่งกว่า 1,620.77%
อัพเป้ารายได้ปี65แตะ2,100ลบ.-เจาะ4ธุรกิจ
บมจ.เซนต์เมด (SMD) ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย โชว์ผลงานไตรมาส 1/65 กวาดรายได้รวม 708.65 ล้านบาท เติบโต 355.88% และมีกำไรสุทธิ 136.71 ล้านบาท เติบโต 1,620.77% โชว์ฟอร์มทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง
ประกาศอัพเป้ารายได้ปี 65 แตะ 2,100 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายน่านน้ำใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้ดำเนินจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทมีรายได้จากการขายและการบริการ จำนวน 708.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 355.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 155.45 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิ 136.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,620.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 7.94 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นมาก
โดยเฉพาะชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร่งด่วน (SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test) หรือ ATK ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
นอกจากนี้ยังมีความต้องการสินค้าในกลุ่มเวชบำบัดวิกฤติ กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไปที่มีความจำเป็นต่อการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วย
ทั้งนี้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤติ คิดเป็นสัดส่วน 8.73% กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับคิดเป็นสัดส่วน 14.75% กลุ่มหทัยวิทยาคิดเป็นสัดส่วน 2.30%
กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 73.14% และกลุ่มสมาร์ทฮอสพิทอล คิดเป็นสัดส่วน 1.01% เป็นต้น โดยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าที่เป็นภาครัฐ 24.51% และลูกค้าภาคเอกชน 75.49%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้ารายได้ในปี 2565 จากเดิม 1,800 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,100 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2565) คาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) มากกว่า 350 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในเดือนกันยายน พร้อมกันนี้ SMD ได้เดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิมรวมถึงขยายธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1.) ธุรกิจด้านซอฟแวร์ทางการแพทย์พร้อมฮาร์ดแวร์เชื่อมต่อกับระบบ HIS ของโรงพยาบาล (Health Tech) ถือเป็นการนำระบบซอฟแวร์ Telemedicine ต่างๆ มาเชื่อมต่อระหว่างเครื่องมือแพทย์เพื่อไปสู่ Hospital Information System ของโรงพยาบาล
2.) ธุรกิจดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง (SAINTmed 24/7 Selfcare Vending Machine) เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน โดยเป็นการขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ต่างๆ
เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรอทวัดไข้ดิจิตอลวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ ATK เป็นต้น ผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine
ซึ่งหน้าจอเป็นระบบทัชสกรีนขนาดใหญ่ จ่ายเงินสะดวกด้วยระบบ QR code บัตรเครดิต เงินสด ธนบัตรทุกชนิด เหรียญทุกประเภท พร้อมมีระบบทอนเงิน ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่ง SMD ได้เซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี
โดยจะติดตั้งตู้ Vending Machine ชนิดใหม่นี้ในโรงพยาบาลต่างๆให้ได้ 100 ตู้ ภายในปี 2565 นี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จการติดตั้งตู้กด ATK อัตโนมัติในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งกว่า 60 ตู้ในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
3.) ธุรกิจเช่าใช้เครื่องมือแพทย์ (Leasing) รองรับความต้องการของภาครัฐ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา SMD ชนะการประมูลเช่าใช้เครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในต่างจัวหวัดจำนวนหลายรายการ มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างเจรจากับโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งมูลค่าในช่วง 150-180 ล้านบาท
และ 4.) ศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab) ในรูปแบบร่วมลงทุนกับภาครัฐ หรือ PPP ที่ได้เริ่มทำโครงการแรกกับ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และกำลังเจรจากับโรงเรียนแพทย์อีกหลายแห่ง
“SMD อาจแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ โดยเน้นการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการแสวงหาเครื่องมือแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์
ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีอายุยืนยาวมากขึ้น และ/หรือ มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นในเครื่องมือแพทย์บางประเภท
ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนทุกท่านที่ได้ลงทุนกับหุ้น SMD ไม่ใช่แค่ได้รับผลดีจากเรื่องกำไรหรือผลตอบแทน แต่ยังเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับตามที่ได้ดังกล่าวมาข้างต้นอีกด้วย” ดร.วิโรจน์ กล่าวสรุป
17 พฤษภาคม 2565
ผู้ชม 525 ครั้ง