สถิติ

71457724

บล.กรุงศรี บริการแพลตฟอร์ม "หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง"    

   บล.กรุงศรี บริการแพลตฟอร์ม "หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง"

   ทางเลือกใหม่นักลงทุน สนับสนุนSMEที่มีศักยภาพ

                                     

   บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (บล.กรุงศรี) ต่อยอดความเชี่ยวชาญตลาดทุนและความน่าเชื่อถือภายใต้กรุงศรี กรุ๊ปและ MUFG พร้อมให้บริการแพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” (Debt Crowdfunding Portal)

   เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุนในการกระจายความเสี่ยงและเลือกรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ผ่านการระดมทุนในรูปแบบหุ้นกู้ที่ออกโดย SME หรือธุรกิจ สตาร์ทอัพ

   ผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากเพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจได้ง่ายขึ้น  

   แพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” ดำเนินการโดย บล.กรุงศรี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการให้บริการระบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

   ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ SME หรือ สตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพที่ต้องการเงินทุนที่มากพอสำหรับการเติบโตของธุรกิจ สามารถระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทรายบุคคล (Retail Investor) ผู้ลงทุนรายสถาบัน, Venture Capital, Private Equity

   รวมถึงผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Qualified Investor) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ต้องการบริหารกระแสเงินสด ลดความเสี่ยงในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน

   โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยและเงินต้นคืน ทุกๆ 1 เดือน หรือ ทุกๆ 3 เดือน หรือ ทุกๆ 6 เดือน ตามเงื่อนไขของผู้ออกหุ้นกู้ในหนังสือชี้ชวน

   และไม่ต้องรอรับชำระคืนเงินต้นในงวดสุดท้าย (Amortized Bond) อีกทั้งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากหลักทรัพย์อื่นๆ และเงินฝาก

   ทั้งนี้แพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” ยังเป็นทางเลือกใหม่ ที่ช่วยแก้ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME หรือ สตาร์ทอัพ อีกด้วย โดยสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพที่มีความต้องการเงินทุนที่มากพอเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโต

   ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอเงินกู้ แต่เป็นการระดมทุนในรูปแบบการออกหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนจำนวนมากบนแพลตฟอร์มนี้ อีกทั้งเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้จากวงเงินสินเชื่อตามปกติที่มีอยู่แล้ว

   ซึ่ง SME หรือ สตาร์ทอัพ สามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นจากการออกหุ้นกู้ โดยแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางพิจารณาแต่ละธุรกิจบนความแตกต่าง

   จึงสามารถประเมินดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับธุรกิจที่ต้องการระดมทุน ทั้งนี้ บล.กรุงศรี มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาและให้บริการตลอดกระบวนการระดมทุนบนแพลตฟอร์ม

   นายธนัท วงษ์ชูแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (บล.กรุงศรี) กล่าวว่า หลังจาก บล.กรุงศรีได้รับความเห็นชอบในการประกอบธุรกิจระบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

   ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่ได้รับความเห็นชอบให้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ ล่าสุดแพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” ของ บล.กรุงศรีพร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจแล้ว และได้มีการจัดทำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มผ่านช่องทางเว็บไซต์ บล.กรุงศรี

   รวมถึงช่องทางเฟสบุค KSS Crowdfunding และจัดสัมมนาเชิงลึกเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME หรือ สตาร์ทอัพ และนักลงทุนที่สนใจอย่างต่อเนื่อง

   โดยคาดว่าจะมีปริมาณการระดมทุนผ่านระบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงประมาณ 700-1,000 ล้านบาท โดย บล.กรุงศรีเองมองนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนตราสารหนี้และกลุ่มเงินฝาก เป็นกลุ่มลูกค้าที่จะมาลงทุนในแพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” นี้

   นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์ม “หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง” โดย บล.กรุงศรี  ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของกรุงศรี กรุ๊ป ในการประสานศักยภาพของบริษัทในเครือ

   เพื่อร่วมให้บริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ในเรื่องเงินทุนอย่างต่อเนื่องและครบวงจรมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามรูปแบบการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับ SME ในระยะเริ่มต้น

   ธนาคารกรุงศรี จึงได้มีการช่วยแนะนำบริการนี้ของ บล.กรุงศรี ให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้รู้จักและเข้าใจ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแหล่งเงินทุน โดยเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ของธนาคาร (Relationship Manager) ด้วยเช่นกัน

10 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้ชม 849 ครั้ง

Engine by shopup.com