BGC เดินหน้าลดสัดส่วนลงทุนธุรกิจพลังงานหลังมติจากผู้ถือหุ้น
BGC เดินหน้าลดสัดส่วนลงทุนธุรกิจพลังงานหลังมติจากผู้ถือหุ้น
BGC เดินหน้าลดสัดส่วนลงทุนธุรกิจพลังงานหลังมติจากผู้ถือหุ้น
โฟกัสธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร รับเป้าหมายการเติบโตระยะยาว
บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC เดินหน้าปรับโครงสร้างการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือน้อยกว่า 20% หลังได้รับมติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 เป็นที่เรียบร้อย
สอดคล้องกับทิศทางบริษัทที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ หลังยกระดับธุรกิจสู่ Total Packaging Solutions ที่มีบรรจุภัณฑ์หลากหลายและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร รับเป้าหมายการเติบโตก้าวกระโดดในระยะยาว
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างการลงทุนในธุรกิจพลังงานเป็นรูปแบบ Passive Investment ที่มีสัดส่วนการลงทุนน้อยกว่าร้อยละ 20
มุ่งเน้นผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบเงินปันผล เพื่อกระจายความเสี่ยงและคงไว้ซึ่งเสถียรภาพรวมถึงความมั่นคงของรายได้ โดยจะจำหน่ายหุ้นทั้งหมด 100% ถืออยู่ในบริษัท โซล่า พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM)
ให้แก่ บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด (BGE) เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BGE จำนวน 7.5 ล้านหุ้น หรือ 27.27% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BGE
และดำเนินการจำหน่ายหุ้น BGE จำนวน 2.02 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.35% ให้แก่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับเงินกว่า 600 ล้านบาท และคงเหลือสัดส่วนถือหุ้นในธุรกิจด้านพลังงานผ่าน BGE ที่ 19.93%
รวมถึงอนุมัติให้ SPM ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก BGE วงเงินไม่เกิน 270 ล้านบาท เพื่อให้ SPM นำไปชำระเงินกู้ยืมเดิมพร้อมดอกเบี้ย หลังจากได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เป็นที่เรียบร้อย
การปรับลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทให้สอดคล้องกับแผนดำเนินงานในระยะยาว ที่มีนโยบายมุ่งเน้นขยายการลงทุนและสร้างการเติบโตจากธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
หลังจากบริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ฝาพลาสติก ฉลากฟิล์ม หลอดพรีฟอร์ม กล่องกระดาษ เป็นต้น
เพื่อยกระดับธุรกิจสู่ “Total Packaging Solutions” ซึ่งจะทำให้บริษัทมีศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้น โดยใช้จุดแข็งที่มีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย และสามารถนำเสนอบรรจุภัณฑ์แก่ลูกค้าอย่างครบวงจร
นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ที่โรงงานราชบุรี และลงทุนขยายกำลังการผลิตเตาหลอมแก้วที่โรงงานปราจีนบุรี
ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มขึ้นเป็น 3,935 ตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน รวมถึงได้ขยายการลงทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ซึ่งเป็นการเพิ่มพอร์ตสินค้าและความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์
ตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่มีอัตราเติบโตสูง และรุกขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสต่อยอดรุกเข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในอนาคต
“ปีนี้ถือเป็นปีที่ BGC มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจพลังงาน การปรับโมเดลธุรกิจสู่การเป็น Total Packaging Solutions
หลังจากขยายการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง การลงทุนก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตเตาหลอมแก้ว ตลอดจนขยายการลงทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน
ซึ่งการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนลงทุนต่างๆ จะเป็นส่วนผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่มีรายได้เติบโตอีกกว่าเท่าตัว จาก 11,000 ล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2568” นายศิลปรัตน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
หลังจากรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบโดส
สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยและไม่จำกัดพื้นที่ท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นเป็น 63 ประเทศ จากเดิม 43 ประเทศนั้น จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูรายได้จากการท่องเที่ยว
ตลอดจนการอนุญาตให้ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ พังงาและภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องที่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และนั่งดื่มภายในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น.
ภายใต้เงื่อนไขจะต้องเป็นร้านที่ได้รับการรับรองตรวจประเมินความพร้อมตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) และการประกาศยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว)
ยกเว้นพื้นที่สีแดงเข้ม 7 จังหวัดที่ยังมีมาตรการควบคุม เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วและความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น
09 พฤศจิกายน 2564
ผู้ชม 479 ครั้ง