"บมจ.ไทยประกันชีวิต" ยื่นไฟลิ่ง ดีเดย์! IPO
"บมจ.ไทยประกันชีวิต" ยื่นไฟลิ่ง ดีเดย์! IPO
"บมจ.ไทยประกันชีวิต" ยื่นไฟลิ่ง ดีเดย์! IPO
ยกเครื่อง!สู่ดิจิทัล-สยายปีก!ลงทุนต่างประเทศ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ทาง บมจ.ไทยประกันชีวิต ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อนำเสนอขายหุ้นสามัญครั้งแรกต่อประชาชน(IPO) จำนวนไม่เกิน 2,384,318,900 หุ้น
ซึ่งประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 1,000,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 8.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
(2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,218,815,600 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 10.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
และ (3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 165,503,300 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 1.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 20.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ โดยมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท
ยกเครื่อง!ธุรกิจสู่ดิจิทัล-สยายปีก!ลงทุนต่างประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และการทำการตลาด เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน และสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่น ๆ
โดยกลยุทธ์ของบริษัทฯมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและให้บริการแบบลักษณะเฉพาะบุคคล (Personalization)
นอกเหนือจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดภายในประเทศแล้ว บริษัทฯยังวางแผนที่จะเพิ่มรายได้จากต่างประเทศด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดที่ยังสามารถเติบโตได้อีกและยังไม่อิ่มตัวนัก
บริษัทฯมองว่าประเทศไทยเป็นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้บริษัทฯสามารถขยายและเข้าถึงความต้องการจากลูกค้าในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมาได้
เนื่องจากพรมแดนที่ติดกันและความคล้ายคลึงกันในด้านประชากรศาสตร์กับพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงระบบประกันภัยในประเทศไทยที่มีความพัฒนามากกว่า
อนึ่ง สำหรับประเทศเมียนมานั้น บริษัทฯตั้งใจที่จะสานความสัมพันธ์และทำการลงทุนใน CB Life ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ใน CB Life อยู่ที่ร้อยละ 35 ของจำนวนหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของ CB Life นอกจากนี้บริษัทฯ จะยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนที่เป็นไปได้ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชาต่อไป
อลังการ!ผลตอบแทนลงทุน-กำไรสูงเป็นประวัติการณ์สวนโควิด-19
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สินทรัพย์รวมของบริษัทฯมีจำนวนเท่ากับ 511,443.44 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯยังมีกลยุทธ์การจัดการการลงทุนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งดำเนินการโดยทีมงานที่มีประสบการณ์และสามารถบรรลุผลตอบแทนที่สูงได้ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2563 บริษัทฯมีผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย (Average Investment Yield) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.26
โดยสินทรัพย์รวมของบริษัทฯเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.87 จาก 416,854 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 494,045 ล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.94 จาก 60,985 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 77,785 ล้านบาท
ในปี 2563 แม้บริษัทฯจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กำไรสุทธิของบริษัทฯปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,692 ล้านบาทในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยจากปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 7.08
ชูจุดแข็ง!ผู้ถือหุ้นกลุ่มไชยวรรณ-MYยักษ์ประกันชีวิตญี่ปุ่น
และข้อได้เปรียบของบริษัทคือผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ กล่าวคือ ครอบครัวไชยวรรณซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น ได้ให้การสนับสนุนบริษัทฯ มาตั้งแต่ปี 2513 จากรุ่นสู่รุ่น
โดยสมาชิกของครอบครัวไชยวรรณซึ่งมีแนวคิดทางธุรกิจและมีประสบการณ์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของบริษัทฯ โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกและความเชี่ยวชาญของบุคคลดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย
นอกจากนี้ Meiji Yasuda Life Insurance Company (MY) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ (Strategic Shareholder) ของบริษัทฯ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
โดย MY ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้และความชำนาญต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทฯ เช่น วิธีการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน และการวิเคราะห์และการพัฒนาเครื่องมือการขายทางดิจิทัลสำหรับตัวแทนประกันของบริษัทฯ
นอกจากนี้บริษัทฯยังได้รับประโยชน์จากศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่แข็งแกร่งของ MY เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงกลยุทธ์และการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลของบริษัทฯ ด้วย
นอกจากความเชี่ยวชาญในด้านการปฏิบัติงานแล้ว MY ยังช่วยให้บริษัทฯเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางธุรกิจระดับโลกของ MY โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น
สำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ช่องทางจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนประกันของบริษัทฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปีทั้งหมดที่ขายผ่านตัวแทนประกันของทั้งอุตสาหกรรมประกันภัยและคิดเป็นร้อยละ 70.8 ของรายได้เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทฯ
ด้วยจำนวนตัวแทนประกันของบริษัทฯ ที่มีมากกว่า 66,000 ราย ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนตัวแทนประกันทั้งหมดในประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2564
โชว์กึ๋น! Exclusive- Non-exclusive Partner ครบวงจร
นอกจากเครือข่ายตัวแทนประกันที่กว้างขวางของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ยังได้สร้างและพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายอื่น ๆ ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและองค์กรของรัฐ พันธมิตรบริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ และพันธมิตรบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ช่องทางจัดจำหน่ายอื่นๆ ของบริษัทฯยังประกอบด้วยการขายผลิตภัณฑ์ทางโทรศัพท์ สวัสดิการพนักงานกลุ่ม และแพลตฟอร์มดิจิทัล บริษัทฯ เข้าทำสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive)
และสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบทั่วไป (Non-exclusive) กับพันธมิตร ซึ่งช่วยให้บริษัทฯมีความยืดหยุ่นในการเลือกพันธมิตรที่ดีที่สุดในแต่ละด้านได้ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทฯโดยรวมในระยะยาว
โดยบริษัทฯได้เข้าทำสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive) สำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทและการจัดจำหน่ายในบางพื้นที่กับพันธมิตรที่เป็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ
ซึ่งได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงศรี) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารซีไอเอ็มบี) และธนาคารอาคารสงเคราะห์
นอกจากนี้ยังเข้าทำสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบทั่วไป (Non-exclusive) กับธนาคารพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงสาขาของพันธมิตรธนาคารพาณิชย์ และพันธมิตรธนาคารและองค์กรของรัฐกว่า 750 แห่ง และกว่า 1,500 แห่ง ทั่วประเทศไทย ตามลำดับ
และเครือข่ายจุดให้บริการทั้งหมดของพันธมิตรที่เป็นบริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ และบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค จำนวน 350 แห่ง (อ้างอิงจากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564)
18 ตุลาคม 2564
ผู้ชม 1341 ครั้ง