สถิติ

71503068

"โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต" จ่อคิวIPOจำนวน187ล้านหุ้น

   "โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต" จ่อคิวIPOจำนวน187ล้านหุ้น

   ชูศักยภาพผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปครบวงจรรายใหญ่ของไทย

                          

   บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต หรือ CMCF โชว์ศักยภาพผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปครบวงจรรายใหญ่ของไทย มุ่งพัฒนาและผลิตอาหารด้วยนวัตกรรมและมีความปลอดภัยให้กับสังคมโลก

   วางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตช่วยลดการเพิ่มแรงงานใหม่ในอนาคต พร้อมรุกขยายสินค้าอาหารสำเร็จรูป เพิ่มศักยภาพการเติบโต

   ล่าสุดได้รับการอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเสนอขายหุ้น IPO

   นายสมนึก โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) หรือ CMCF เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 4 ทศวรรษ โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ

   ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (Pet Food) ผลิตภัณฑ์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล (By Product)  เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ในการพัฒนาและผลิตอาหารด้วยนวัตกรรมและมีความปลอดภัยให้กับสังคมโลก  

   บริษัทแบ่งธุรกิจหลักเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% ของรายได้จากการขายรวม

   ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาทูน่าและปลาทะเลอื่นๆ พร้อมรับประทาน (Standard Product) และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปจากปลาทูน่าและปลาทะเลอื่นๆ แบบปรุงรสชาติพร้อมรับประทาน (Value-Added Product)

   2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (Pet Food) 3.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ และ 4.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล (By Product) ได้แก่ ปลาป่นเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์

   “ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตและแปรรูปปลาทูน่าแบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปรวม 87,900 ตันน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) ต่อปี

   สามารถผลิตสินค้าจำนวนมากและมีความหลากหลายด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ โดยให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และการส่งมอบสินค้าที่ตรงต่อเวลาในราคาที่แข่งขันได้” นายสมนึก กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

                                     

   ทั้งนี้ในปี 2563 บริษัทได้รุกขยายฐานการผลิตในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาทูน่าขนาดใหญ่ของโลกและเป็นแหล่งการประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) ที่สำคัญของโลก โดยเข้าถือหุ้น 49% ใน PT Lautindo Synergy Sejahtera หรือ LSS

   ซึ่งประกอบธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายปลาทูน่าตัดแต่งแช่แข็ง มีกำลังการผลิต 12,700 ตันน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) ต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในการผลิตปลาทูน่าแปรรูปของบริษัท

   ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการจัดหาปลาและความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงรองรับแผนงานรุกขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ

   บริษัทวางกลยุทธ์การเติบโตโดยจะเน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นและมีการเติบโตสูง และขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบจากการประมงอย่างยั่งยืนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 

   ตลอดจนมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงานเพื่อลดการเพิ่มแรงงานในอนาคต และ LSS ในอินโดนีเซียมีแผนที่จะผลิตและจำหน่ายปลาทูน่าแปรรูปถุงสูญญากาศและผลิตภัณฑ์อื่นๆ

   นอกจากนี้บริษัทยังใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและลดของเหลือจากกระบวนการผลิต (Zero Waste) โดยการนำผลพลอยได้ในกระบวนการแปรรูปปลาทูน่ามาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งจะเพิ่มรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายจากการบำบัดน้ำเสียในกระบวนการผลิต

   นอกจากนั้นบริษัทจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท ได้แก่ "เอ็มโปร" ผลิตภัณฑ์อาหารเหลวที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ (Functional Food) และมีคุณค่าทางโภชนาการ เจาะกลุ่มผู้ดูแลสุขภาพและผู้สูงวัย โดยเริ่มจำหน่ายแก่โรงพยาบาลในปีที่ผ่านมา

   และ "อีซี่ ควิก" ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปผลิตจากเนื้อสัตว์ ผัก และธัญพืชพร้อมรับประทาน เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องการอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานเพื่อให้บริการหรือ จัดงานต่างๆ

   ทั้งนี้หลังจากบริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 187,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30.0 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

   ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท จำนวนไม่เกิน 125,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย CH Group Capital Limited จำนวนไม่เกิน 62,500,000 หุ้น ปัจจุบันได้รับการอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเสนอขายหุ้น IPO

                               

   นายสมบูรณ์ โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตในประเทศ 2 แห่ง ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ

   อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ และโรงงานผลิตปลาป่นเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย รวมถึงโรงงานแปรรูปและจำหน่ายปลาทูน่าตัดแต่งแช่แข็งในอินโดนีเซียภายใต้การดำเนินงานของ LSS

   ทั้งนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าภายในโรงงาน จนได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลต่างๆ อาทิ  ใบรับรองห่วงโซ่การคุ้มครอง (Chain of Custody) ตามมาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการประมงธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Marine Stewardship Council

   หรือ MSC), มาตรฐานโคเชอร์ (Kosher) รองรับตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวยิวที่นับถือศาสนาจูดาย ฯลฯ และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

   จึงเกิดเทรนด์การบริโภคอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศที่ใช้วัตถุดิบจากการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Seafood) การทำประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่า

   โดย Grand View Research องค์กรด้านการวิจัยระดับโลกประเมินว่าในปี 2562 อุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปทั่วโลกมียอดขายรวม 11,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น  17,331.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

   “โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เช่น การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย Anaerobic Fixed Film Reactor ที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน

   การนำก๊าซชีวภาพที่เกิดจากปฏิกิริยาย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ในการอุ่นน้ำป้อนก่อนเข้าบอยเลอร์ ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม” นายสมบูรณ์ กล่าวสรุป

24 กันยายน 2564

ผู้ชม 450 ครั้ง

Engine by shopup.com