PRINC ชี้โควิด-19 หนุนรายได้ Q2/642 โต 76%
PRINC ชี้โควิด-19 หนุนรายได้ Q2/642 โต 76%
PRINC ชี้โควิด-19 หนุนรายได้ Q2/642 โต 76%
ความสามารถทำกำไรกระเตื้องEBITDAพลิกบวก
นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด(มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทปรับแผนรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
ได้ดำเนินการตรวจคัดกรอง ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามสิทธิการรักษา รวมถึงการจัดทำ Hospitel และ Home Isolation เพื่อเป็นเครือข่ายในการรับรักษาแบ่งเบาภาระภาครัฐ
บริษัทยังได้ร่วมมือกับ 7 องค์กรภาคธุรกิจเอกชนและมูลนิธิ และพันธมิตรอื่นรวมกว่า 30 องค์กร ก่อตั้งโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ รองรับผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง ขนาด 450 เตียง โดยใช้เวลาก่อสร้างและวางระบบเพียง 20 วัน
นอกจากนี้ได้ขยายห้องผู้ป่วยไอซียู ที่รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เพิ่มเติมจาก 20 ไปเป็น 85 เตียง พร้อมระดมนำบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์จำเป็นของโรงพยาบาลในเครือฯ 11 แห่งทั่วประเทศ
เสริมกำลังในการให้บริการโดยเฉพาะ Hospitel กว่า 5 แห่ง รวม 750 เตียง และโรงพยาบาลสนาม 2 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ สมุทรปราการ ขนาด 450 เตียงดูแลโดยกลุ่มรพ.พิษณุเวช
และโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่บริเวณห้องประชุมใต้ฐานพระองค์ใหญ่ พุทธอุทยานนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ขนาด 360 เตียง ดูแลโดยรพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ
นอกจากนี้ยังให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และยังเปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีนทางเลือก(โมเดอร์นา) ซึ่งจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในงวดไตรมาส 2 ของปีนี้ กลุ่มบริษัทมีรายได้มีจำนวน 921.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 76% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่าธุรกิจโรงพยาบาล มีรายได้จำนวน 845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ทุกโรงพยาบาลในเครือมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ปรับแผนในการให้บริการเน้นตรวจคัดกรองและรักษาโควิด-19 ซึ่งช่วยในการควบคุมโรคระบาดและยังเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐ
นอกจากนี้ยังได้รับผลบวกจากการขยายฐานผู้ใช้บริการจากการเปิดโรงพยาบาลใหม่ อีก 2 แห่งใน 2 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี โรงพยบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
และการขยายสาขาคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจจากปัจจุบัน 13 สาขาในพื้นที่กรุงเทพ ยังคงเป้าขยายเป็น 20 สาขาภายในปลายปีนี้(2564) ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ 76.9 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯมีรายได้รวม 1,644.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเป็นไปตามการคาดการณ์ของบริษัท
เพราะปกติการลงทุนในกิจการประเภทโรงพยาบาลจะต้องใช้ระยะเวลา 5 ปี ในการคืนทุนหรือในปี 2565 ประกอบกับโรงพยาบาลเร่งลงทุนขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม ขยายเตียงผู้ป่วยวิกฤติในการรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาด
และยังคงดำเนินการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงแผนขยายโรงพยาบาลให้ได้ 20 แห่งภายในปี 2566 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
นอกจากนี้ผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2564 จำนวน 170.8 ล้านบาทนั้น ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 7% เนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และบริษัทย่อยมีรายการขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์จำนวน 43.3 ล้านบาท
ซึ่งเป็นรายการที่เกิดเพียงครั้งเดียว หากไม่นับรวมรายการดังกล่าวจะมีผลขาดทุนในงวด จำนวน 127.5 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 56 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงถึง 30%
ส่วนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยพิจารณาจากกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา(EBITDA) ในงวดไตรมาส 2 นี้ พลิกมีกำไร 25.4 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 20.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 222.6%
“ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย ผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มที่ดี ภายหลังบริษัทสามารถบริหารจัดการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในช่วงไตรมาส 4 นี้ คาดมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาให้บริการและยังคงให้บริการตรวจโควิด-19 ต่อเนื่อง
ประกอบกับการขยายพื้นที่ให้บริการ ทั้ง Hospitel รพ.สนาม หรือให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน และขยายโรงพยาบาลและคลินิกตามแผน นอกจากนี้ได้ดำเนินการขยายคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิวัฏฏะคลินิก
ซึ่งปัจจุบัน มีการผลิตยาฟ้าทะลายโจร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยอื่นๆเพื่อใช้ในการดูแลรักษาคนไข้โควิด-19 ทั้งในคลินิกและรพ.ในเครือฯ ทำให้บริษัทคาดว่าผลประกอบการในครึ่งหลังของปี 2564 จะดีขึ้น และคาดว่ารายได้มีโอกาสจะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายธานี กล่าวสรุป
17 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 296 ครั้ง