PJW แตกไลน์โมเดลใหม่ ดัน!New S-curve
PJW แตกไลน์โมเดลใหม่ ดัน!New S-curve
PJW แตกไลน์โมเดลใหม่ ดัน!New S-curve
ลุย!กลุ่ม Medical-3ปี รายได้แตะ 1,000 ลบ.
บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก(PJW) เดินเกมรุกปรับโมเดล ต่อยอดธุรกิจ New S-curve สู่การเติบโตครั้งใหม่ สบช่องแตกไลน์ธุรกิจ Medical ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ส่งซิกเตรียมเปิดตลาดQ4/64 ก่อนลงสนามเต็มสูบในปี 65
มั่นใจภายใน 3 ปี ปั้นรายได้เข้ากระเป๋าเพิ่ม 1,000 ล้านบาท พร้อมระบุ 24 มิ.ย.นี้ ขอเสียงโหวตผู้ถือหุ้นออกวอร์แรนต์ 3:1 จำนวนไม่เกิน 191.35 ล้านหน่วย หวังเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน รองรับการขยายกิจการการลงทุนใหม่ในอนาคต
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมุ่งสู่การต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้บริษัทฯมีอัตราการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
ล่าสุดได้แตกไลน์ธุรกิจขยายการลงทุนทางด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical เครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง อาทิ ไซริงค์พลาสติก, วาล์ว สายน้ำเกลือ, เข็มฉีดยา รวมถึงเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตรอบใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัทในอนาคต
โดยบริษัทได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนมาต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมาร์จิ้นและแนวโน้มการเติบโตสูง โดยจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10-15 % ต่อปี จากมูลค่าตลาดในประเทศไทยที่เป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท
ส่วนงบการลงทุนในการซื้อเครื่องจักรใหม่ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โซนการผลิต Medical นั้น บริษัทจะนำเสนอกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาให้ความเห็นและอนุมัติในการประชุมคณะกรรมการต่อไป
ทั้งนี้หากแผนการพิจารณามีความชัดเจน บริษัทก็สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/2565 ส่งผลให้ในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเร่งวางแผนทำการตลาด
ในการเตรียมนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวมาจำหน่ายให้ทันภายในไตรมาส4/2564 เพื่อทำการตลาดในเบื้องต้น ก่อนที่จะผลิตและจำหน่ายในเชิงรุกช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
โดยบริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มโรงพยาบาล และ ร้านเวชภัณฑ์ ในประเทศเป็นหลัก ทำให้ช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามา และจะมีรายได้จากการผลิตและจำหน่ายเข้ามาชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 เป็นต้นไป
จากประเด็นในข้างต้น ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้าในปี 2565 จะรับรู้รายจากธุรกิจดังกล่าวเข้ามากว่า 300 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 เนื่องจากบริษัทจะรุกตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากตลาดในประเทศ
โดยการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสอดรับกับนโยบายที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศในภูมิภาค (Medical Hub) ในอนาคต
นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทุ่นลอยน้ำ เพื่อรองรับการลงทุนโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนน้ำ (Floating Solar) โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายในปี 2565 เนื่องจากมองว่าผลิตภัณฑ์นี้ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดวิกฤติการณ์โลกร้อนในช่วงที่ผ่านมา
ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญนโยบายส่งเสริมและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดมากขึ้น บริษัทจึงเล็งเห็นถึงความต้องการของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
“บริษัทเดินหน้าสู่เป้าหมาย New S-curve มุ่งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดมูลค่าเพิ่มในธุรกิจเดิม โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 กลุ่ม คือ เครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และผลิตภัณฑ์ทุ่นลอยน้ำ เนื่องจากทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ยังมีดีมานด์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง
และได้รับอานิสงส์จากนโยบายกรณีที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็น Medical Hub รวมถึงนโยบายการส่งเสริมโครงการพลังงานสะอาด ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่า การต่อจิ๊กซอว์โมเดลทางธุรกิจในครั้งนี้จะหนุนให้บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ” นายวิวรรธน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า
สำหรับภาพรวมธุรกิจในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 5 -10% จากทิศทางการฟื้นตัวของทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทคือ กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นพลาสติก ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก และธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในครึ่งปีหลังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับบริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ทำให้สามารถลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในปีนี้ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 บริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขอพิจารณาอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่1 (PJW-W1) จำนวนไม่เกิน 191.35 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น
โดยไม่คิดมูลค่า 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ อายุ 3 ปี มีราคาใช้สิทธิแปลงสภาพที่ 3 บาทต่อหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ PJW-W1 โดยเม็ดเงินที่ได้จากการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญครั้งนี้ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
เพื่อรองรับการขยายกิจการการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทฯในอนาคต ในการนำไปเป็นเงินทุนในการขยายและต่อยอดการลงทุนของบริษัทสำหรับการขยายและต่อยอดในธุรกิจ New S-curve
24 มิถุนายน 2564
ผู้ชม 519 ครั้ง