กดปุ่ม! โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 29 ตุลาคมนี้
กดปุ่ม! โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 29 ตุลาคมนี้
กดปุ่ม! โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 29 ตุลาคมนี้
จ่ายไฟกฟผ.ปั้น!รายได้14,000ลบ.-ดัน!กำไรCKP
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จํากัด(มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า หลังจากดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมารวม 12 ปี ด้วยมูลค่าการลงทุนจำนวน 135,000 ล้านบาท รวมงบลงทุนเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม 19,400 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นเงินกู้ธนาคารพาณิชย์จำนวน 86,462 ล้านบาทหรือสัดส่วน 66% แบ่งเป็นเงินบาท 72% และเงินดอลลาร์สหรัฐ 28% เงินลงทุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นจำนวน 17,241 ล้านบาทสัดส่วน 13% และ Equity จำนวน 26,861 ล้านบาทสัดส่วน 21%
โดยบริษัท ไซยะบรุี พาวเวอร์ จํากัด มีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ประกอบไปด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด สัดส่วน 25.0% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว สัดส่วน 20.0% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 12.5% และบริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) สัดส่วน 5.0%
ซึ่งขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีพร้อมเดินเครื่องการผลิตเพื่อจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)แล้วในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 นี้ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี
โดยที่มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี ซึ่งได้มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 95% แจกจ่ายให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวอีก 5% ในอัตราขายเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลวัตต์
ทั้งนี้หลังจาก COD แล้วคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 ล้านหน่วยในปี 2562 นี้ ส่วนในปี 2563 หลังดำเนินโครงการได้เต็มปีคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาทจากปริมาณน้ำเฉลี่ย โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ในตั้งแต่ไตรมาส 1-4 เรียงลำดับคือ 20%,20%,32% และ 28%
ทั้งนี้ทาง CKP ยังวางแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งจากพลังานน้ำ พลังแสงอาทิตย์ พลังความร้อนร่วมอย่างต่อเนื่องทั้งในลาว และเมียนมาร์ โดยเฉพาะการศึกษาโครงการจากพลังน้ำที่แม่น้ำสาละวิน เป็นต้น ด้วยปริมาณกำลังการผลิตใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแห่งนี้ต่อไป
นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการรองกรรมการผู้จัดการงานเดินเครื่องและบํารุงรักษา บริษัท ไซยะบรุี พาวเวอร์ จํากัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีออกแบบก่อสร้างในรูปแบบฝายทดน้ำ (Run-of-River) ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับ ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง
โดยในการเดินเครื่องต้องน้ำจำนวน 5,000 ลูกบาศก์เมตรหากเกินจำนวนก็จะมีการระบายออกหรือคิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของปริมาณน้ำจากแม่โขงที่ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางโครงการสามารถคำนวณปริมาณน้ำได้ล่วงหน้าภายในระยะเวลา 3-5 วัน
ดังนั้นปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการจะเป็นไปตามปริมาณน้ำที่มีตามธรรมชาติ เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนเขื่อน ประเภทกักเก็บน้ำทั่วๆ ไป หลังจากก่อสร้างเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะบริเวณด้านเหนือน้ำจากที่ตั้งโครงการไปถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง
โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่างหรือท้ายน้ำของโครงการแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำปกติตามธรรมชาติ
นอกจากนั้นทางโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรียังมีการก่อสร้างช่องทางสำหรับให้เรือแล่นผ่านได้ด้วยที่เรียกว่า Tractor & Trailer รวมทั้งมีระบบ Fish Ladder และ Fish Lock เพื่อให้ปลาสามารถว่ายน้ำผ่านได้ด้วย
คุณมัณฑนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนธุรกิจ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จํากัด(มหาชน) เปิดเผยว่า หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดดำเนินการ COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีอย่างเป็นทางการได้นั้นก็จะส่งผลให้บริษัทเหลือเพียงต้นทุนในการบริหารงานที่ 10% โดยที่โครงการดังกล่าวมีอัตรากำไรอยู่ที่ 10-12%
ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรของ CKP เพิ่มเติมตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นจากรายได้การ COD ปีละ 13,000-14,000 ล้านบาทตามแผนงานที่วางไว้และเป็นรายได้ที่มั่นคงจากระยะเวลาสัมปทานนาน 31 ปีด้วย
21 ตุลาคม 2562
ผู้ชม 2419 ครั้ง