สถิติ

73587050

สำนักงาน คปภ. ประชุมร่วมภาคธุรกิจประกันภัย ยกระดับ    

หมวดหมู่: ประกันภัย

   สำนักงาน คปภ. ประชุมร่วมภาคธุรกิจประกันภัย ยกระดับ

   มาตรการกำกับดูแลเชิงป้องกัน รองรับการกำกับดูแลฐานะการเงิน

  นายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. โดยเลขาธิการ คปภ. ได้ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

   จึงมอบหมายให้สายตรวจสอบ ร่วมกับสายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและพัฒนาแนวทางยกระดับมาตรการกำกับดูแลเชิงป้องกันบริษัทประกันภัยที่มีการดำเนินการที่อาจกระทบต่อฐานะทางการเงิน

   โดยพบว่า บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาการดำเนินการที่อาจกระทบต่อฐานะการเงินจะแก้ไขปัญหาด้วยการจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นหลัก อันเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน          

   นอกจากนี้ที่ผ่านมามาตรการแทรกแซงตามกฎหมายสำหรับใช้เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหายังเผชิญกับข้อจำกัด ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขที่บริษัทประกันภัย

   มีฐานะเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

   ด้วยเหตุดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้พัฒนาจัดทำมาตรการยกระดับการกำกับดูแลฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย เพื่ออุดช่องว่างในกระบวนการให้บริษัทประกันภัยต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลาย จนอาจกระทบต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

   โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 สำนักงาน คปภ. ได้มีการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย โดยมีผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยเข้าร่วม

   เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และเตรียมความพร้อมรองรับสำหรับการบังคับใช้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติกับบริษัทประกันภัยต่อไป 

   ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการยกระดับการกำกับดูแลดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย นำมาใช้กับบริษัทประกันภัยที่จัดอยู่ในกลุ่ม 2 กลุ่ม 3 และกลุ่ม 4

   ตามการจัดกลุ่มของระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System : EWS) ซึ่งมีปัจจัยหรือข้อบ่งชี้ในบางประการที่อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย

   และจะนำมาใช้เพื่อป้องกันก่อนที่เงินกองทุนของบริษัทประกันภัยดังกล่าวจะลดต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย/ประกันชีวิต พ.ศ. 2535

   ซึ่งในแต่ละมาตรการแทรกแซงจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ (Root Cause) ที่แท้จริง เป็นไปตามสัดส่วนความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละบริษัทประกันภัย

   รวมถึงมีขั้นตอนการตัดสินใจ (Decision-Making Lines) ที่ชัดเจนและสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที โดยมีข้อบ่งชี้ที่ใช้พิจารณาแบ่งกลุ่มบริษัทที่เข้ามาตรการแทรกแซงที่สามารถสะท้อนฐานะการเงิน ความมั่นคงของบริษัทในปัจจุบัน

   และความทนทานของเงินกองทุนส่วนเกิน (Surplus) ที่มีต่อผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิต่อเนื่องติดต่อกัน ซึ่งแบ่งความทนทานของบริษัทออกเป็น 3 ระดับที่มีความสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละระดับ

   โดยจะเริ่มจากระดับเบาไปหาหนัก และหากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามมาตรการแทรกแซงได้ ก็จะถูกยกระดับการบังคับใช้มาตรการแทรกแซงที่สูงขึ้นในลำดับต่อไป

   สำหรับผลการประชุมร่วมดังกล่าว ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เห็นด้วยกับมาตรการยกระดับการกำกับดูแลดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้บริษัทประกันภัยได้ทราบหลักเกณฑ์และระยะเวลาของมาตรการแทรกแซงที่ชัดเ

   จนสามารถดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายจนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน และมีความเห็นเพิ่มเติมในบางประเด็น

   อาทิ ในมุมของการมองผลขาดทุนของบริษัทประกันชีวิตที่อาจต้องมีการแยกพิจารณาผลขาดทุนในมุมผลขาดทุนที่แตกต่างจากบริษัทประกันวินาศภัย เป็นต้น                      

   ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะรับข้อคิดเห็นดังกล่าวนำไปพิจารณา เพื่อให้มาตรการที่ออกมาสามารถนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนบังคับใช้ในลำดับต่อไป

   “การประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัย

   ในการจัดทำแนวทางและมาตรการยกระดับการแก้ไขปัญหาและแทรกแซงการกำกับดูแลฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ซึ่งมาตรการดังกล่าวแม้จะเป็นมาตรการภายในกำหนดกรอบการใช้อำนาจตามกฎหมายของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่

   แต่จะถูกพัฒนาให้มีความโปร่งใส ครอบคลุมและคำนึงในทุกมิติอย่างรอบด้าน มีแนวทางและกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน ภายใต้หลักการกำกับดูแลที่ดีและสอดคล้องกับกติกาที่เป็นสากล

   สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายจนอาจนำไปสู่ไปกระทบต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้อย่างแท้จริง

   ตลอดจนเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินกิจการที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเสริมเสถียรภาพของระบบประกันภัยโดยรวมหากแต่ยังช่วยเสริมสร้างและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

   กับทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยโดยส่วนใหญ่ โดยสำนักงาน คปภ. จะประกาศแนวทางมาตรการดังกล่าวให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งรับทราบต่อไป ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบ กล่าวสรุป

24 เมษายน 2568

ผู้ชม 144 ครั้ง

Engine by shopup.com