สถิติ

73552223

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้า!ปั้นนักวางแผนการเงินเข้าสู่ระบบ  

หมวดหมู่: การเงิน

   สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้า!ปั้นนักวางแผนการเงินเข้าสู่ระบบ

   ชี้!ไทยเติบโต18.5% รุก!ติดอาวุธทางปัญญาอุดมศึกษารับเทรนด์คนรุ่นใหม่

   เปิดแผนงานปี 68 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้าจับมือพันธมิตร ปั้นนักวางแผนการเงิน และที่ปรึกษาการเงินเพิ่ม เร่งแก้ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการวางแผนการเงินว่าเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น! ยันเป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน หากต้องการมีอิสรภาพทางการเงินและความมั่นคง

   นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยถึงทิศทางและแผนงานของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ปี 2568 ว่า จะมุ่งส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP® และเดินหน้าให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินให้กับคนไทยทุกช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาไปจนถึงวัยเกษียณ ดังนี้

              1.การส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP

   1.1 ทำโครงการ Road to CFP® Professional เส้นทางสู่อาชีพนักวางแผนการเงิน สนับสนุนให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องวางแผนการเงินในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้รับคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

   ซึ่งเป็นคุณวุฒิขั้นต้นของการเป็นนักวางแผนการเงิน และเป็นมาตรฐานที่สถาบันการเงินให้การยอมรับ โดยมอบทุนสอบให้กับนักศึกษาใน 8 มหาวิทยาลัย 

   1.2 ร่วมกับสมาชิกนิติบุคคลของสมาคมฯ เร่งสร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อรองรับความต้องการ ด้านการวางแผนการเงินในกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินแบบองค์รวม (Holistic Advisory)

   เช่น ร่วมมือกับธนาคารทิสโก้ ยกระดับการให้คำแนะนำด้านการวางแผนการเงิน โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสากลที่มีคุณวุฒินักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เปลี่ยนมุมมองด้านการวางแผนการเงินว่าเป็นแค่การลงทุนเพียงด้านเดียว

   และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นรายตัวให้ตั้งเป้าหมายและวางแผนการเงินแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านการวางแผนการลงทุน ประกันภัย การวางแผนภาษีและการวางแผนส่งต่อมรดก การวางแผนก่อน และหลังเกษียณ

              2.ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน

   2.1 ทำโครงการ Workshop การวางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือนHappy Salaryman มนุษย์เงินเดือน เงินดี มีสุข” ส่งเสริมพนักงานให้มีความรู้และเริ่มลงมือตั้งเป้าหมาย สามารถวางแผนการเงินให้มีความมั่นคงทางการเงินและพร้อมเกษียณได้อย่างมีความสุข

   โดยเริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร และข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ที่แม้มีรายได้ประจำแต่เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงหลายปัจจัย จำเป็นต้องวางแผนการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในแต่ละช่วงชีวิต  

   2.2 ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินสำหรับคนวัย 50+ เพื่อเตรียมพร้อมเกษียณอย่างมั่งคั่งมั่นคงและมีความสุข  

   2.3 ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังเตรียมแผนส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินหลังเกษียณ โดยเตรียมเปิดหลักสูตร Post Retirement Specialist เพื่อวางแผนการเงินและชีวิตหลังเกษียณรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย   ของคนไทย

  1. ร่วมกับแบงก์ชาติจัดอบรมหมอหนี้อาสา ให้กับนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อช่วยแก้หนี้ให้กับคนไทย ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข  

   นายวิโรจน์ กล่าวว่า ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องวางแผนการเงิน เพราะทุกอย่างรอบตัวล้วนเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าของเราทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย ค่าทำคลอด ค่าเทอมการศึกษา ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน มีลูก จนถึงการเตรียมเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ

   นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนในชีวิตอื่นๆ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ความไม่แน่นอนในการงานและธุรกิจ จนถึงบั้นปลายชีวิต ทุกอย่างต้องใช้เงิน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ล้วนปรับตัวขึ้นทุกปี รวมทั้งราคาที่อยู่อาศัย

   ซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ โดยข้อมูลอ้างอิงจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและดัชนีราคาที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 28-46%

   “เพราะเงินมีจำกัด ดังนั้นทุกคนที่เป็นผู้มีรายได้ จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน สร้างความมั่นคงในชีวิต และนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน และมีความมั่งคั่งมั่นคง สามารถใช้ชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ นักวางแผนการเงินจะช่วยทำโรดแมป เพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเงินในแต่ละช่วงเวลาได้” นายวิโรจน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า   

   อย่างไรก็ตามยังพบว่า ประเทศไทยหรือคนไทย ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นักวางแผนการเงินมีไว้สำหรับให้คนรวยเท่านั้น

   ส่งผลให้ในอดีตมีการใช้บริการนักวางแผนการเงินน้อยมาก แม้ปัจจุบันจะมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงิน

   ทั้งวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออม วางแผนป้องกันความไม่แน่นอนวางแผนการลงทุน วางแผนภาษี และวางแผนเพื่อชีวิตยามเกษียณ เพราะในทุกช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตจำเป็นต้องใช้เงิน          

   ทั้งนี้จากผลสำรวจผู้ใช้บริการใน 15 ประเทศทั่วโลก พบว่า 84% ของลูกค้าที่ใช้บริการ เห็นว่าการใช้บริการกับนักวางแผนการเงิน CFP ให้ประโยชน์คุ้มค่าเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้นักวางแผนการเงิน

   นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดว่า นักวางแผนการเงินมีผลประโยชน์แฝง ไม่ได้ให้คำแนะนำที่ควรจะเป็น แต่ต้องการเพียง “ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ที่แนะนำเท่านั้น

   ซึ่งในความจริงแล้ว 98%ของลูกค้าที่ได้รับคำแนะนำจากนักวางแผนการเงินCFP ไว้ใจว่า นักวางแผนการเงิน CFP คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าได้ผลตอบแทนบรรลุตามเป้าหมายของแผนการเงินที่วางไว้

   โดยเรื่องนี้ถือเป็นจรรยาบรรณที่สำคัญและกำหนดไว้เป็นข้อแรก ที่นักวางแผนการเงินทุกคนต้องยึดปฏิบัติ ที่ต้องให้คำแนะนำในการวางแผนการเงิน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก

   สำหรับการคิดค่าธรรมเนียมของนักวางแผนการเงินว่า มี 4 แบบ ดังนี้                                 

   1.Fixed fee คิดค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงินต่อแผนต่อปี  

   2.ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าลงทุนหรือซื้อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์  

   3.คิดค่าธรรมเนียมแบบผสม เช่น คิดค่าแผน 5,000 บาทต่อปีจากลูกค้าและได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าลงทุนหรือซื้อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ 

   4.คิดค่าธรรมเนียมตามมูลค่าทรัพย์สิน เช่น 3% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แนะนำต่อปี  

   ที่สำคัญไม่ว่านักวางแผนการเงินจะคิดค่าธรรมเนียมแบบใด ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงวิธีการคิดค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนก่อน และลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้บริการ หากไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียม ตามวิธีที่นักวางแผนการเงินคิด เนื่องจากเป็นจรรยาบรรณที่นักวางแผนการเงิน CFP ต้องปฏิบัติ          

   “2 ปัจจัยนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าใช้บริการนักวางแผนการเงิน CFP สมาคมฯ จึงอยากเชิญชวนให้ลองคุยกับนักวางแผนการเงินก่อน จะใช้หรือไม่ใช้บริการค่อยตัดสินใจ

   แต่อย่าด่วนตัดสินว่าคุณยังไม่พร้อมกับการวางแผนการเงิน เพราะการวางแผนการเงิน เริ่มยิ่งเร็วยิ่งดี ทำให้วางแผนชีวิตได้ตามเป้าและมองเห็นชีวิตที่คุณต้องการได้ชัดและเชัดเจนขึ้น” นายวิโรจน์ กล่าวย้ำและเพิ่มเติมว่า

   ดังนั้นในโอกาสนี้ สมาคมฯ จึงจัดให้ประชาชนที่สนใจปรึกษาและรับคำแนะนำเรื่องวางแผนการเงินกับนักวางแผนการเงิน CFP  ฟรี 1 ชม.ผ่านออนไลน์ วันที่ 24 พ.ค.68 รอบเวลา 10.00 -11.00 น.

   และรอบ 11.15–12.15 น. จำกัดเพียงรอบละ 20 คน ลงทะเบียนรับสิทธิ์ที่ LineID @CFPthailand ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 16 พ.ค. 68 หรือจนกว่าจะครบสิทธิ์

   นายวิโรจน์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันนักวางแผนการเงิน CFP มีเครือข่ายสมาชิกอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ณ 31 ธ.ค.67 มีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 230,648 คน โดยมีอัตราการเติบโต 3.1% หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 6,878 คน

   ขณะที่ประเทศไทยมีนักวางแผนการเงิน CFP 703 คน มีอัตราการเติบโตสูงถึง 18.5%เพิ่มขึ้นสุทธิ 110 คน โดยเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก เพราะคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจและเรียนรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี

   ทั้งนี้ประเทศไทยมีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP 703 คน สูงเป็นอันดับที่ 19 จาก 26 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 18 ที่มีนักวางแผนการเงิน CFP 887 คน และมาเลเซีย ที่อยู่อันดับที่ 14 มีนักวางแผนการเงิน CFP 2,615 คน                           

   ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP สูงสุดเป็นอันดับ 1 มีจำนวน 103,093 คน จะเห็นว่า ประเทศไทยยังต้องการนักวางแผนการเงิน CFP อีกมากเมื่อเทียบจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP กับสัดส่วนประชากรไทย

   เป็นโอกาสของคนที่มองหาอาชีพที่มีความมั่นคง มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ไม่มีเพดานจำกัด สามารถทำควบคู่กับงานประจำ และไม่มีกำหนดอายุเกษียณ

23 เมษายน 2568

ผู้ชม 96 ครั้ง

Engine by shopup.com