สถิติ

73474506

กกร. ชี้!มาตรการขึ้นภาษีสหรัฐฯกระทบส่งออก    

หมวดหมู่: การเงิน

   กกร. ชี้!มาตรการขึ้นภาษีสหรัฐฯกระทบส่งออก

   เหตุต้นทุนเพิ่มกว่า6-8%-จี้!รัฐเร่งนำข้อมูลเจรจา

   การประชุม กกร. ประจำเดือน มีนาคม 2568 ผลการประชุม ระบุว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าทั้งแบบเจาะจง และแบบครอบคลุมวงกว้างเพิ่มเติม โดยได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม และเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้ากลุ่มรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยา

   รวมทั้งมีแผนเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศต่างๆ ในวงกว้างสำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ เสียเปรียบจากการถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ซึ่งอาจทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนภาษีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6-8% ทั้งนี้สงครามการค้าได้กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการบริโภคและภาคบริการที่ชะลอลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมยุโรปและญี่ปุ่นต่างหดตัวต่อเนื่อง

   และที่ประชุม กกร. ยังมีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากร้อยละ 10% เป็นร้อยละ 25%

   และยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศ ข้อตกลงตามโควตา รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษีแบบรายสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ จะต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

   ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งมีการบูรณาการข้อมูลการค้าในทุกมิติระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาทิ ดุลการค้า ดุลภาคบริการและดิจิทัล ดุลภาคขนส่ง ดุลภาคการศึกษา เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดท่าทีร่วมกับภาคเอกชน ในการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศ

   รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากสงครามการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม​ 

   นอกจากนั้นที่ประชุมกกร. ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณอ่อนแรงลง สะท้อนผ่านจีดีพีไตรมาส 4/2567 ที่ขยายตัวเพียง 2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 4.0% ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ​ โดยสาเหตุหลักมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว สวนทางกับการส่งออกที่ยังขยายตัวดี

   เป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันรุนแรงจากสินค้าต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 

   ทั้งนี้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง สำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการจีดีพีไทยลงเหลือ 6% จากเดิมอยู่ที่ 2.7% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

   ทั้งนี้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบและประคองการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีความจำเป็น โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว 

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ของ กกร.

%YoY

ปี 2567

(ณ ธ.ค. 67)

ปี 2568

(ณ ก.พ. 68)

ปี 2568

(ณ มี.ค. 68)

GDP

2.5*

2.4 ถึง 2.9

2.4 ถึง 2.9

ส่งออก

5.8*

1.5 ถึง 2.5

1.5 ถึง 2.5

เงินเฟ้อ

0.4*

0.8 ถึง 1.2

0.8 ถึง 1.2

หมายเหตุ: *เลขจริง

ที่มา: สศช. พณ. และประมาณการโดย กกร. 

   นอกจากนั้นที่ประชุม กกร. เห็นด้วยกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายระยะเวลาลงทะเบียนให้กับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่เปราะบางเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568

   เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งจะสามารถครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 2.1 ล้านบัญชี และมียอดหนี้รวมประมาณ 890,000 ล้านบาท

   ซึ่งในขณะนี้มียอดจำนวนลูกหนี้ลงทะเบียนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 820,000 ราย หรือคิดเป็น 990,000 บัญชี โดยโครงการประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

   1) มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ 2) มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ Non-Bank ที่เข้าร่วมโครงการ และ 3) มาตรการ “ลดผ่อน ลดดอก” สำหรับลูกหนี้ของ Non-Bank ที่เข้าร่วมโครงการ

   ทั้งนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เป็นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระการผ่อนอย่างมีนัยสำคัญให้กับลูกหนี้ เป็นมาตรการชั่วคราวที่ยาวถึง 3 ปี เพียงพอในการสนับสนุนและรองรับกับมาตรการระยะถัดไปของภาครัฐ

   ในการเข้ามาปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านต่างๆ ที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน อาทิ การมีข้อมูลเครดิตที่ครบถ้วนจากทุกผู้ให้บริการสินเชื่อในฐานข้อมูลของ NCB

   การทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ การยกระดับและการรับรองฝีมือแรงงานเพื่อรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการค้าที่เป็นธรรมให้กับ SMEs เป็นต้น

05 มีนาคม 2568

ผู้ชม 171 ครั้ง

Engine by shopup.com