กรมสรรพสามิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย OR บางจาก
กรมสรรพสามิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย OR บางจาก
กรมสรรพสามิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย OR บางจาก
ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนภาษีคาร์บอน
ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดย กรมสรรพสามิต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ผ่านการบูรณาการการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลงานวิจัย ด้วยการพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงาน และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และ สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนวิภาวดีรังสิต
ดร. เผ่าภูมิ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
เป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Pricing) แรกของประเทศไทย
ที่แสดงสัดส่วนของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยสามารถคำนวณได้จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor)
ซึ่งเป็นค่าที่สามารถคำนวณได้ทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งภาครัฐเป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้
หม่อมหลวงปีกทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า ความร่วมมือของ OR กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
สร้างความตระหนักรู้เรื่องภาษีคาร์บอนของผู้ใช้พลังงาน ด้วยความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน ซึ่งมาตรการนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด
อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการออกกฎกระทรวงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีน้ำมันในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ทั้งนี้ OR จะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานรวมถึงทรัพยากรตามที่ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงร่วมกัน
นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายเสรี อนุพันธนันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดกลไกราคาคาร์บอนผ่านภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการใช้มาตรการภาษีเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งบางจากฯ ในฐานะองค์กรพลังงานชั้นนำของไทย มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอน สนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภค ร่วมกับกรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมันบางจากที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ ภายใต้แคมเปญ “ต้นไม้ของคุณ”
ซึ่งจะบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ส ทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการใช้น้ำมันรักษ์โลกเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางจากฯ ได้ดำเนินโครงการด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี
สำหรับโครงการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนนี้ จะเริ่มสื่อสารตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างวิจัยประมาณ 3,500 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน
เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero และสร้างโลกยั่งยืน
ดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกทั้งยังได้นำข้อมูลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการดังกล่าวเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต กระทรวงการคลัง
โดยกรมสรรพสามิตได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำร่องการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค
โดยแสดงปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับผู้บริโภคในการเติมน้ำมันแต่ละครั้งผ่านหน้าจอ ณ สถานีบริการ สำหรับ พีทีที สเตชั่น และผ่าน Bangchak Mobile Application ของบริษัท บางจากฯ
โดยการเติมน้ำมันแต่ละครั้ง ประชาชนจะรับทราบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เท่าใดจากจำนวนน้ำมันที่เติม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการปล่อย Co2 ในระยะยาวได้
09 กุมภาพันธ์ 2568
ผู้ชม 133 ครั้ง