สถิติ

70245970

SCGP ปรับพอร์ตบริหารต้นทุนหลังฉุด!กำไร  

   SCGP ปรับพอร์ตบริหารต้นทุนหลังฉุด!กำไร

   เพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ รุกขยายโซลูชันเติบโต 

   SCGP เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 101,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษที่เพิ่มขึ้น

   กำไรสำหรับงวด 3,756 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงเน้นการปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค (Consumer Packaging)

   รุกขยายโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพเติบโตสูง และการบริหารต้นทุนให้สอดคล้อง เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนตามกรอบ ESG มองแนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายของปีเติบโตจากการผลิตสินค้าเพื่อสต๊อกในช่วงเทศกาล การฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว 

   นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น

   เช่น บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัว เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ไปยังสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป

   ทั้งนี้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ภาพรวมเศรษฐกิจมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียน การเกิดอุทกภัยในไทยและเวียดนามที่ส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกและการจัดเตรียมสต๊อกสินค้า

   และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลให้การส่งออกและความต้องการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับลดลง รวมถึงต้นทุนกระดาษบรรจุภัณฑ์จากราคากระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้น

   SCGP ได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้วยการปรับพอร์ตสินค้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค นำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร

   รวมถึงปรับกลยุทธ์การส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ของอินโดนีเซียไปยังเวียดนามในช่วงที่ตลาดจีนยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และบริหารจัดการต้นทุนพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

   ด้วยการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในกระบวนการผลิตและขยายไปยังโรงงานอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก

   ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขายท่ากับ 101,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

   การขยายตัวของภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าคงทน มี EBITDA เท่ากับ 13,282 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,756 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

   สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 33,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp) ที่เพิ่มขึ้น

   ในขณะที่ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากปริมาณการส่งออกของกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง EBITDA เท่ากับ 3,496 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อนหน้า

   สำหรับกำไรสำหรับงวด 578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงส่งผลต่อสินค้าส่งออก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp)

   นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคจะเพิ่มการสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ภาคการบริการและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

   รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และความต้องการสินค้าคงทนจะเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรับเทศกาล ขณะที่เศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

   ส่วนราคากระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มลดลงจากราคาที่ปรับย่อลงในช่วงไตรมาสก่อน SCGP จึงยังคงมุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

   ล่าสุดได้ร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าให้แข็งแกร่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น

   นอกจากนี้ยังมุ่งบริหารต้นทุนและเพิ่มความสามารถทำกำไรด้วยการปรับพอร์ตเพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพิ่มสัดส่วนการส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปประเทศที่มีความต้องการ

   เพิ่มการใช้กระดาษรีไซเคิลภายในประเทศและขยายเครือข่ายการจัดหากระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้น รวมถึงมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง

   ขณะเดียวกัน SCGP ได้ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยเดินหน้าเพิ่มรายการสินค้าที่ได้รับรอง Carbon Footprint of Products (CFP) ครอบคลุมกลุ่มสินค้า

   ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก รวม 126 ผลิตภัณฑ์ กระบวนการพิมพ์และการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ และกลุ่มสินค้ากระดาษถ่ายเอกสารและบรรจุภัณฑ์อาหาร (Fest) รวม 19 ผลิตภัณฑ์

   และล่าสุด SCGP ได้รับการปรับอันดับ ESG ratings เป็น ‘A’ จาก MSCI และยังได้รับรางวัล “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ระดับยอดเยี่ยม สาขาสินค้าอุตสาหกรรม ประจำปี 2567”

   หรือ Climate Action Leading Organization (CALO)-Excellence level จากเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ TCNN เป็นปีที่สองติดต่อกัน

29 ตุลาคม 2567

ผู้ชม 245 ครั้ง

Engine by shopup.com