ออมสิน โอนหนี้เสียล็อตแรกสู่ ARI-AMC กว่า 130,000 บช.
ออมสิน โอนหนี้เสียล็อตแรกสู่ ARI-AMC กว่า 130,000 บช.
ออมสิน โอนหนี้เสียล็อตแรกสู่ ARI-AMC กว่า 130,000 บช.
มูลค่าเงินต้น 11,000 ลบ. ตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้ตามนโยบายรัฐ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ และได้มอบหมายธนาคารออมสินจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC โดยการร่วมทุนกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM
ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
ธนาคารจึงเดินหน้าตามแผนการโอนหนี้สินเชื่อที่เป็น NPLs ให้ ARI-AMC นำไปเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น
โดยทำการโอนหนี้ ครั้งที่ 1 จำนวนกว่า 130,000 บัญชี วงเงิน 11,000 ล้านบาท ประเภทสินเชื่อทั้งที่มีและไม่มีหลักประกัน และลูกหนี้มีบัญชีต่อราย จำนวน 1 บัญชี
ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้ง่ายขึ้น กลับมามีสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบในอนาคต
และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ที่สำคัญยังเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบายรัฐบาล และส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ธนาคารจะทำการโอนหนี้อีก 2 ครั้ง ภายในต้นปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลูกหนี้ได้ทั้งหมดกว่า 400,000 บัญชี คิดเป็นมูลค่าเงินต้นกว่า 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ARI-AMC จัดตั้งขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM มีวัตถุประสงค์เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ
โดยมีทุนจดทะเบียนที่ 1,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากันที่ 50:50 และมีระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 15 ปี ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยระยะแรก ARI-AMC จะรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้รายย่อย SMEs
รวมถึง หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย หนี้สูญ และ NPA ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ยอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และ ดำเนินคดีแล้วที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
10 ตุลาคม 2567
ผู้ชม 42 ครั้ง