BJC โชว์รายได้ไตรมาส 1/66 แกร่ง!
BJC โชว์รายได้ไตรมาส 1/66 แกร่ง!
BJC โชว์รายได้ไตรมาส 1/66 แกร่ง!
กลุ่มสินค้า/บริการโต-กำไรสุทธิ1,254ลบ.
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า รายได้รวมในไตรมาส 1/66 เท่ากับ 40,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,368 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โดยเพิ่มขึ้นจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 37,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,288 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มสินค้าและบริการ ในขณะที่รายได้อื่นรวมอยู่ที่ 3,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จากค่าเช่าและบริการที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 6,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 384 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่งมีสาเหตุหลักมาจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว เนื่องจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นและราคาขายของบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 5,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การเพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจอุปโภค และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ
- กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 2,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายเวชภัณฑ์ ฝ่ายพลังงาน ฝ่ายอุตสาหกรรมการพิมพ์ และฝ่ายวิศวกรรม
- กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 27,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 757 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 24,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 667 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลบวกต่อการเติบโตของยอดขาย ทำให้ยอดขายต่อสาขาเดิมเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาส 1/66 (ยอดขายต่อสาขาเดิมเมื่อไม่รวมยอดขายสินค้า บีทูบี เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในไตรมาส 1/66) ในขณะเดียวกันรายได้อื่นอยู่ที่ 3,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของรายได้ค่าเช่า
กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/66 โดยได้เปิดบิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส จำนวน 1 สาขา, บิ๊กซี มินิ จำนวน 12 สาขา ในประเทศไทย และบิ๊กซี มินิ จำนวน 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา ปิดบิ๊กซี มาร์เก็ต จำนวน 1 สาขา และปิดบิ๊กซี มินิ จำนวน 7 สาขา ในระหว่างไตรมาส
ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำนวน 1 สาขา ในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 61 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ต จำนวน 35 สาขา บิ๊กซี ฟู้ด เพลส ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 11 สาขา บิ๊กซี ดีโป้ จำนวน 11 สาขา
และร้านค้าส่งบิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส จำนวน 4 สาขา) บิ๊กซี มินิ จำนวน 1,455 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ จำนวน 53 สาขา ในประเทศไทย บิ๊กซี มินิ จำนวน 18 สาขา และร้านค้าสะดวกซื้อกีวี่ จำนวน 2 สาขา ในประเทศกัมพูชา) และร้านขายยาเพรียว จำนวน 146 สาขา ในขณะที่เครือข่ายร้านค้าโดนใจมีจำนวน 1,170 ร้านค้า
นอกจากนี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์ม Omnichannel ของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ บริษัทได้ร่วมมือกับ Lineman
เพื่อส่งสินค้าของบิ๊กซีไปยังร้านค้ากว่า 800 แห่ง ที่ Lineman ให้บริการจัดส่ง อีกทั้งบริษัทยังได้ขยายฐานอย่างครอบคลุมบนแพลตฟอร์ม e-marketplace ข้ามพรมแดนใหม่ในประเทศจีนผ่าน Tmall
25 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 58 ครั้ง