สถิติ

70465866

คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เร่ง DGA ทำกรอบแผนพัฒนา    

หมวดหมู่: ตลาด/ไอที

   คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เร่ง DGA ทำกรอบแผนพัฒนา

   รัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. 68–70 ผลักดันเป้าหมายสู่อันดับ EGDI ที่ 40 ปี 70

 

   นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล มี นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ

   พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้แทนจาก 13 หน่วยงานภาครัฐ ให้เกียรติเข้าร่วมประชุม โดยมีมติมอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 4 ฉบับ คือ

   1) มาตรฐานข้อมูลน้ำ (Thaiwater.standard) เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลให้เกษตรกรสามารถนำไปบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมสามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเร่งความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับประเทศไทยเป็นที่หนึ่งของอาเซียน

   2) มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ เวอร์ชัน 2.0 3) ประกาศรายชื่อชุดข้อมูลหลักของหน่วยงาน (Master Data) เพิ่มเติม รวมเป็น 43 ชุดข้อมูล

   โดยให้เชื่อมโยงกับศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX) เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้สะดวก มีความปลอดภัยสูง

   และ 4) ประกาศระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window หรือ NSW) เป็นแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐสำหรับภาคธุรกิจ

   ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และรับทราบเตรียมกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการใช้คลาวด์ภาครัฐ (Cloud First Policy)

   นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดิจิทัลเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาครัฐไปสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ

   โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ต้องเห็นเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการขับเคลื่อนงานอย่างแท้จริง และเห็นด้วยกับการกำหนดให้การเลื่อนอันดับของไทยในดัชนี E-Government Development Index (EGDI)

   ซึ่งจัดทำโดยสหประชาชาติ จากอันดับที่ 55 ในปี 2565 สู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2570 เป็นเป้าหมาย เพราะเป็นสิ่งสะท้อนมุมมองที่นานาชาติมีต่อศักยภาพในด้านนี้ของไทย โดยสามารถนำเงื่อนไขและเกณฑ์การประเมินนี้มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย

   ทั้งนี้สำหรับการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐและการเปิดเผยข้อมูล ขอให้ดำเนินการอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

   โดยขอให้ใช้ความรอบคอบรัดกุมและคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)   

                                                 

   นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเดินหน้าตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566–2570 ที่ผ่านมามีโครงการโดดเด่น อาทิ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS, ระบบการลงทะเบียนประชาชน ร้านค้า และ ระบบ Payment Platform ผ่าน Super App ทางรัฐ ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet,

   ระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนเพื่อเป็น Super App ภาครัฐ, ระบบ Biz Portal ศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียว, ยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้มีคุณภาพตามกรอบธรรมาภิบาล สู่การเปิดเผย เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

   ผ่านเว็บไซต์ data.go.th, การจัดทำ eDocument เช่น Digital Transcript, ระบบ Law Portal, ระบบ Government Data Exchange เพื่อรองรับการยกเลิกสำเนาเอกสารทางราชการ และบริการอื่นๆ เป็นต้น  

   ในที่ประชุมได้เสนอ รายการชุดข้อมูลหลัก (Master Data) เพิ่มเติม 22 ชุดข้อมูล รวมเป็น 43 ชุดข้อมูล ทำให้หน่วยงานรัฐ ประชาชน และเอกชนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ผ่านแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดไปยังระบบบริการต่างๆ ของภาครัฐ

   ทั้งนี้ DGA ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ต้องการปั้นขุมกำลังคนภาครัฐด้านดิจิทัล จึงมุ่งมั่นยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐมาโดยตลอด ปัจจุบันมีจำนวนผู้ผ่านการอบรมจากสถาบัน TDGA ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ทั้งสิ้น 2,471,554 คน/หลักสูตร

   โดย DGA ได้จัดทำหลักสูตรกลางสำหรับบุคลากรไอทีและผู้ปฏิบัติงานด้านดิจิทัลของหน่วยงานรัฐ จาก 7 ทักษะดิจิทัล จำนวน 22 หลักสูตร เพื่อต่อยอดการเพิ่มสมรรถนะด้านดิจิทัลบุคลากรภาครัฐตามเป้าหมาย 90% ของบุคลากรไอทีภาครัฐที่วางไว้

12 สิงหาคม 2567

ผู้ชม 80 ครั้ง

Engine by shopup.com