ทีทีบี ชง! 4 กลยุทธ์ ปั้นสินเชื่อคงค้าง SME แตะ 500,000 ล้านบาท
ทีทีบี ชง! 4 กลยุทธ์ ปั้นสินเชื่อคงค้าง SME แตะ 500,000 ล้านบาท
ทีทีบี ชง! 4 กลยุทธ์ ปั้นสินเชื่อคงค้าง SME แตะ 500,000 ล้านบาท
Q4ผุด!Digital Lendingดันธุรกรรมดิจิทัล98%-สินเชื่อสีเขียว10,000ลบ.
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เดินหน้าขับเคลื่อน 4 แผนกลยุทธ์สำหรับลูกค้าธุรกิจปี 2567 คาดสินเชื่อคงค้างแตะ 500,000 ล้านบาท ปั้นค่า Fee โต 15% ลดต้นทุนความเสี่ยง 0.86-0.7%
พร้อมเดินหน้ามอบประสบการณ์ทั้งโซลูชันที่ตอบโจทย์ในแต่ละอุตสาหกรรม ยกระดับดิจิทัลโชลูชันในทุกธุรกรรมของธุรกิจ และมอบโซลูชันบริหารความเสี่ยงที่ครบครันสำหรับผู้นำเข้าส่งออก ดันธุรกรรมดิจิทัลแตะ 98%
ควบคู่แผนงานนำร่อง Digital Lending ธุรกิจ SME วงเงิน 2-5 ล้านบาท ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ย้ำ!สนับสนุนธุรกิจสีเขียวเต็มสูบปี 67 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ทีที บีมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องแก่เอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกด้าน ด้วยแนวคิดการมองลูกค้าเป็น 360 องศา
โดยมี ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อดิจิทัลโซลูชันทางธุรกิจ สำหรับในปี 2567 นี้ ทีทีบี เดินหน้า LEAD the CHANGE for Financial Well-being of SME and Corporate Customers
เป็นผู้นำในการสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ซัพพลายเชนของแต่ละอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับการทำธุรกรรมทางธุรกิจสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
โดยแผ่นงานที่สำคัญในปี 2567 ตั้งเป้าสินเชื่อคงค้างที่จำนวน 500,000 ล้านบาท ลดต้นทุนความเสี่ยงหรือ NPL ลงมา 0.86-0.7% เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมโต 15% โดยจะมาจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือ FX การทำบัตรลูกค้าองค์กรและ Fleet Card รวมถึงธุรกรรมประกันภัย ด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรมด้วยโซลูชัน 360 องศาที่ออกแบบมาเพื่อแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ (Industry Solutions)
ทีทีบี มุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและตอบโจทย์เฉพาะให้แต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งสินเชื่อ ธุรกรรมการเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยดูแลตั้งแต่ธุรกิจ การเงินส่วนตัวสำหรับเจ้าของกิจการ รวมถึงพนักงานของบริษัท
เพราะธนาคารตระหนักว่าธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมมีความเฉพาะตัวและมีความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแนวคิด Ecosystem Play และการมองลูกค้าเป็น 360 องศา
อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ Automotive Industry ซึ่งมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทีทีบีก็ได้นำจุดแข็งในฐานะผู้นำด้านสินเชื่อรถยนต์ การบริหารรับ-จ่ายเงิน และบัตรเครดิตน้ำมันธุรกิจ
พัฒนาโซลูชันที่เกี่ยวกับรถยนต์ได้อย่างครบวงจร ตอบโจทย์ในทุกความต้องการของทุกส่วนในซัพพลายเชน ตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ Dealer รถยนต์ จนไปถึงผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์
ในส่วนของอุตสาหกรรมการศึกษา อย่างโรงเรียนนานาชาติ ที่มีทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และครูต่างชาติ ทีทีบีได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถรับ-จ่ายเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่ทำได้สะดวกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคาร แม้กระทั่งอุตสาหกรรมการเกษตร
ธนาคารก็ได้เข้าไปช่วยพัฒนาโซลูชันตั้งแต่โรงงานจนถึงชาวไร่ จนเพิ่มประสิทธิภาพให้ทั้งระบบได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ
ด้วยสินเชื่อที่เหมาะสมตามขั้นตอนและเพียงพอจนสามารถส่งมอบงานได้ พร้อมกับเพิ่มสภาพคล่องให้ เพียงนำใบแจ้งหนี้และใบตรวจรับงานมาขายลดหนี้รับเงินไปใช้ได้ก่อน
กลยุทธ์ที่ 2 สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition Solutions)
ทีทีบี ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ตามแนวคิด B+ESG พร้อมสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถรับมือกับมาตรการทางการค้าที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้
เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกติกาใหม่ของประเทศไทยอย่าง Thailand Taxonomy และรวมถึง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
นอกจากนี้องค์กรใหญ่หลายแห่งก็ได้เริ่มกำหนดให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หากไม่สามารถทำตามเกณฑ์ก็อาจสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือมีต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่รูปแบบใหม่ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธนาคารมีโซลูชันที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Finance อาทิ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan)
สินเชื่อสีฟ้า (Blue Loan) สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop Finance) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (HP Program for EV) เป็นต้น
รวมถึงการจัดสัมมนาและให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้ประกอบการ โดยทีทีบีตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับลูกค้าธุรกิจถึง 60,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี จากที่ปี 2567 ตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 10,000 ล้านบาท
กลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจด้วยดิจิทัลโซลูชันในทุกขั้นตอนของธุรกิจ (Digital Solutions)
หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีการทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2562 การเติบโตด้านธุรกรรมดิจิทัลของลูกค้าธุรกิจ ทีทีบี สูงขึ้นกว่า 20%
และปัจจุบันลูกค้าธุรกิจโดยทั่วไปทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง 95-98% แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินภายในประเทศ (Cash Management)
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินเชื่อธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศยังคงมีการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลในสัดส่วนที่น้อยอยู่ เนื่องจากบางธุรกรรมยังต้องเดินทางไปทำที่สาขาหรือมีความต้องการเอกสารเป็นกระดาษ
ซึ่ง ทีทีบี ได้พัฒนาช่องทางดิจิทัลแบงก์กิ้งที่ดี คือ ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ที่ใช้ได้ทั้งอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้ง ให้ลูกค้าธุรกิจทำธุรกรรมออนไลน์ได้สะดวกและง่าย ควบคุมธุรกิจได้ในที่เดียว
สำหรับในปีนี้ ทีทีบีได้วางเป้าหมายในการมุ่งมั่นพัฒนาทุกขั้นตอนของการทำธุรกรรมให้สามารถทำบนดิจิทัลได้ทั้งหมด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มสินเชื่อธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศ
เช่น การเปิดบัญชีผ่านช่องทางดิจิทัล ถอนเงินทางออนไลน์โดยไม่ต้องไปสาขา การออกหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-LG) การขอสินเชื่อทางดิจิทัล
และการให้บริการเชื่อมต่อระบบของลูกค้ากับธนาคารสำหรับธุรกรรมในประเทศและระหว่างประเทศ (Host to Host Service) เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 98%
รวมถึงแผนงานในการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลสำหรับลูกค้า SME หรือ Digital Lending ในวงเงิน 2-5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 นี้
กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาโซลูชันบริหารความเสี่ยงที่ครบครันสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก (Importer-Exporter Solutions)
ทีทีบี มองเห็นความท้าทายของผู้นำเข้าส่งออกในยุคนี้คือ การที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก ซึ่งเป็นผลทั้งจากเศรษฐกิจทั่วโลก สภาวะสงครามและการเมืองต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความผันผวนในสกุลเงินต่างๆ
โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวนสูงถึง 9% ผู้ส่งออกนำเข้าของไทยส่วนใหญ่ยังใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายสินค้า ซึ่งทำให้มีความท้าทายในการบริหารจัดการความเสี่ยง
ธนาคารจึงได้แนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนมาซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่ามาก โดยทีทีบีถือเป็นธนาคารแนวหน้าในการพัฒนาเครื่องมือในการช่วยบริหารสกุลเงินท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็น บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน (ttb multi-currency account) ที่ทำให้ลูกค้าสะดวก คล่องตัว ด้วยการใช้บัญชีเดียวในการบริหารได้ถึง 11 สกุลเงิน สามารถใช้ซื้อ ขาย รับ จ่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยทีทีบีเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่เสนอบัญชีประเภทนี้ นอกจากนี้ยังเป็นธนาคารแรกที่เสนอเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงสกุลเงินหยวน ผ่านผลิตภัณฑ์ “Yuan Pro-rata Forward”
ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ในปีนี้ ทีทีบียังคงเดินหน้าพัฒนาบริการและโซลูชันที่มุ่งตอบโจทย์ผู้นำเข้าส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการทำการค้าระหว่างประเทศ
“ทีทีบี มั่นใจว่าจาก 4 กลยุทธ์ที่ธนาคารมีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าธุรกิจ จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีมากกว่าเดิม และจะส่งผลให้ในปี 2567 เป้าหมายของธนาคารในทุกด้านสามารถเติบโตได้ตามที่ตั้งไว้
โดยยังคงมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่เอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ สามารถก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ จนประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายศรัณย์ กล่าวสรุป
09 เมษายน 2567
ผู้ชม 40 ครั้ง